กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยระบบการคลังและโครงสร้างภาษีไทย สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชั่นและความขัดแย้งทางการเมือง แนะรัฐบาลแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม เร่งปฎิรูประบบภาษี สร้างสวัสดิการพื้นฐาน เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยได้นำเสนอบทความเรื่อง “การคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” ในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยประมวลความรู้จากงานวิจัยในด้านปัญหาโครงสร้างภาษีและการกระจายผลประโยชน์จากการใช้จ่ายในโครงการของรัฐ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างภาษีไทย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย
ทั้งนี้ รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย การศึกษาในต่างประเทศพบว่าประชาธิปไตยมักจะเกิดและเติบโตได้ดีกว่าในประเทศที่มีการกระจายรายได้ที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน โดยมาตรการการคลังมีส่วนสำคัญในการลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ตัวเลขใน ปี พ.ศ. 2549 พบว่ากลุ่มประชาชนที่ร่ำรวยที่สุด 20% ของประเทศมีทรัพย์สินเกือบ 70 เท่าของกลุ่มที่จนที่สุด 20% ของประเทศ และมาตรการด้านการคลังของไทยในบางด้านยังเป็นตัวเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย
ดร.นิพนธ์ ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างระบบภาษี ซึ่งประเทศไทยยังพึ่งภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากรมากกว่าภาษีทางตรง อันได้แก่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล จากการศึกษาพบว่าฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้นแคบมาก ผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีเพียง 6-7 ล้านคน หรือไม่เกินร้อยละ 18 ของผู้มีงานทำ และไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากสำหรับสังคมไทย เพราะมีคนทำงานถึง 23 ล้านคน แต่เสียภาษีเงินได้แค่ 7 ล้านคนเท่านั้น
ด้านภาษีศุลกากรมีปัญหาหลายประการ กล่าวคือ การปฎิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากร 3 รอบและการเปิดเสรีทางการค้าทำให้อัตราภาษีโดยเฉลี่ยลดลงมาก นอกจากนี้การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่ยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการ ทำให้เกิดการกระจายสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่เท่าเทียมกัน โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์มักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ มีพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอีกจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าสู่ระบบ ทำให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าวัตถุดิบถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ไม่เป็นธรรม หรือเจ้าหน้าที่บางคนใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตเพื่อหารายได้จากผู้เสียภาษี
ส่วนภาษีสรรพสามิต เป็นระบบภาษีที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้เห็นอย่างชัดเจนและสร้างปัญหามากทั้งในแง่ของฐานภาษีและอัตราภาษีที่เรียกเก็บ เช่น สินค้าชนิดเดียวกันแต่เก็บภาษีต่างกันตามเกรดของสินค้า เช่น แบ่งเกรดเบียร์ออกเป็น 3 เกรด คือ ประหยัด (Economic) มาตราฐาน (Standard) และพรีเมียม (Premium) ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และทำให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องการเสียภาษีต่ำจึงผลิตเบียร์แบบประหยัด (Economic) ขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้ราคาเบียร์ถูกลง และส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตและขายสินค้าที่มีฐานภาษีต่ำได้เปรียบคนที่ผลิตและขายสินค้าที่มีมาตรฐานสูง จากความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีข้างต้น เป็นเหตุให้รัฐเสียรายได้จากการเก็บภาษีไม่น้อยกว่าปีละ 24,000 ล้านบาท อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการการวิ่งเต้นกับนักการเมืองและข้าราชการเพื่อที่จะได้ส่วนต่างภาษีให้ตัวเองได้เปรียบคนอื่น นำไปสู่การคอร์รัปชั่น และการขยายตัวของธุรกิจการเมือง ซึ่งมีผลเสียต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยของไทย
ด้าน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องการกระจายผลประโยชน์จากการใช้จ่ายในโครงการของรัฐ ที่สำคัญใน 3 ด้านคือ สาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยในเบื้องต้นได้ยกตัวอย่างรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่พบว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนที่มีฐานะมากกว่าคนจน
จากการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 90 ของคนจนมีสิทธิบัตรทอง ขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่ง ของคนที่ฐานะดีมีสิทธิสวัสดิการของข้าราชการหรือประกันสังคม ผู้ที่ใช้สิทธิข้าราชการจะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เพราะรัฐบาลจ่ายเงินให้กับโครงการสวัสดิการข้าราชการถึง 11,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าการจ่ายในโครงการบัตรทองสำหรับคนจนประมาณ 5 เท่าตัว ผู้ป่วยนอกยิ่งมีฐานะดีเท่าไหร่ก็ยิ่งได้รับประโยชน์จากบริการด้านผู้ป่วยนอกของรัฐมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ กว่า 30% ของทรัพยากรที่ใช้รักษาผู้ป่วยนอกตกอยู่กับกลุ่มคนที่มีฐานะดีที่สุด 10% ส่วนผู้ป่วยใน แม้ว่ากลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง (ค่อนไปในทางจน)บางกลุ่มก็ได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก แต่กลุ่มที่รวยที่สุดก็ยังได้รับประโยชน์มากเป็น 2 เท่าตัวของค่าเฉลี่ยของประเทศ ทำให้ในภาพรวมนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นการได้รับผลประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ในด้านการศึกษานั้น แม้ว่ารัฐบาลจะให้ค่าหัวกับการศึกษาระดับพื้นฐานในอัตราที่เท่ากันทั้งประเทศ แต่โรงเรียนใหญ่ที่มีชื่อเสียงจะได้รับงบด้านอื่นมากกว่าโรงเรียนเล็ก และรัฐบาลก็ใช่จ่ายในระดับอุดมศึกษาคิดเป็นงบต่อหัวค่อนข้างสูง และในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลก็มักจะลงทุนในเมืองใหญ่เป็นหลัก ทำให้คนที่มีฐานะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐมากกว่ากลุ่มคนจนที่อาศัยอยู่ในชนบท
ท้ายสุด รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร กล่าวว่า ในที่สุดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง แนวทางที่จะหลุดพ้นจากเรื่องนี้ รัฐบาลควรสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน โดยสามารถนำเงินที่ได้มาจากความเหลื่อมล้ำทางด้านภาษีและขยายฐานภาษีให้เป็นธรรมซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนหลายหมื่นล้านบาทมาใช้พัฒนาด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การส่งเสริมด้านอาชีพเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยหยิบยื่นสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้แก่คนในประเทศทุกระดับ ซึ่งส่งผลให้การเลือกนักการเมืองที่หาเสียงแบบประชานิยมลดลง นอกจากนี้รัฐบาลควรลดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษีโดยทำให้โครงสร้างภาษีมีความเป็นกลาง ภาษีบางประเภท เช่น ภาษีเงินได้ ควรเป็นอัตราภาษีก้าวหน้า ปรับปรุงระบบรายจ่ายรัฐบาลเพื่อให้ผลประโยขน์ตกแก่คนจนมากขึ้น และขจัดการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ท้ายสุดคือการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อทำให้ธุรกิจแข่งขันกันได้อย่างเสรี เท่าเทียม และเป็นธรรม เพื่อนักธุรกิจจะได้ไม่ต้องวิ่งเข้าหานักการเมือง และ สังคมไทยควรเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการความขัดแย้งให้มีความสมดุลและเป็นธรรม
ทั้งนี้ การนำเสนอข้างต้นเป็นผลการศึกษาส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจะได้นำเสนอผลงานวิจัยทั้งหมดในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธและพฤหัสบดีที่ 25-26 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในเว็บไซท์ www.tdri.or.th
เผยแพร่โดยทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ โทร.0-2270-1350 ต่อ 113 คุณศศิธร/คุณนันทพร