"ละครจิตอาสา" ... ศิลปะของการ “ให้”

ข่าวทั่วไป Tuesday November 17, 2009 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อฟากของ “การละคร” มาพบกับแนวคิด “จิตอาสา” ได้ผลผลิตออกมาชื่อ “ละครจิตอาสา” แค่ฟังชื่อก็น่าสนุกแล้ว และสิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือผลลัพธ์ที่เกิดจากการนำกระบวนการนี้มาเป็นช่องทางพัฒนาเยาวชนด้วย !!! "กลุ่มละครเครือข่ายหน้ากากเปลือย" จึงจัดให้มี "โครงการบูรณาการกระบวนการละครกับจิตอาสาสำหรับเยาวชน" ขึ้นภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยเล็งเห็นว่า "กระบวนการละคร" จะเป็นช่องทางพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ ช่วยให้เหล่ากระโปรงบาน —ขาสั้น ชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย ได้มีกิจกรรมเรียนรู้และพัฒนาที่สมวัย โดยมีนักเรียนกว่า 100 คนจาก 10 โรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าร่วมโครงการ ปุ๋ย “รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ” ผู้เลี้ยงใจดีกลุ่มละครเครือข่ายหน้ากากเปลือย เล่าว่า กิจกรรมตลอด 5 เดือนที่ผ่านมามีทั้งที่เป็นการถ่ายทอดทักษะและความรู้ด้านกระบวนการละคร ซึ่งพี่เลี้ยงจะนำเข้าไปเวิร์คช็อปให้กับน้องๆ ถึงในโรงเรียนเป็นเวลาถึง 2 เดือน นอกจากนั้นยังจัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จิตอาสาข้ามโรงเรียนเพื่อนำเรื่องจิตอาสาที่โดนใจมาลงมือถ่ายทอดออกมาเป็นละครจิตอาสาแบ่งปันกันชมกับเพื่อนๆ ในโครงการ และตระเวนแสดงให้เพื่อนในโรงเรียนได้ชมเพื่อเพิ่มประสบการณ์ รวมถึงแบ่งปันให้น้องผู้ป่วยเด็กเล็กในโรงพยาบาล ชาวชุมชนคลองเตย ตลอดจนครอบครัวที่มาทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุดที่สวนเบญจกิตติและอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคพาร์ค) ได้รับชมด้วย สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากพวกเขาได้เรียนรู้ทักษะด้านการละคร เช่น การออกเสียง การใช้ร่างกาย และองค์ประกอบศิลป์ ฯลฯ แล้ว กระบวนการละครที่พี่เลี้ยงได้สอดแทรกทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย รวมถึงการทำงานเป็นทีม และจิตอาสา ทำให้พวกเขาได้ซึมซับ รับรู้ และมีความเติบโตภายในจิตใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในเชิงบวกโดยไม่รู้ตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เหตุผลเพราะการแสดงละครจำเป็นต้องแสดงต่อหน้าคนหมู่มาก ผู้แสดงต้องมีความเป็นผู้นำ เชื่อมั่นในตนเอง กล้าคิดและกล้าแสดงออก และจากการที่การแสดงละครส่วนใหญ่มักแสดงร่วมกันเป็นทีม หากสมาชิกขาดความสามัคคีและความอดทนอดกลั้นต่อกันแล้วย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย ยิ่งสมาชิกไม่มีความรับผิดชอบ ขาดซ้อมหรือมาสาย เพื่อนอีกหลายคนก็พลอยต้องหยุดหรืองดซ้อมไปด้วย สมาชิกแต่ละคนจึงเป็นส่วนสำคัญของทีมที่ต้องคำนึงถึงคนอื่นให้มาก น้องป๊อบอาย “ศุภรัตน์ นัดดาหลง” เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจากชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า บอกว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการละครทำให้เขาได้หันกลับมาทำความรู้จักตัวเอง และทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทั้งยังยอมเปิดใจรับความแตกต่างของผู้อื่น เป็นผลมาจากการสวมบทบาทตัวละครที่มีความรู้สึกนึกคิดแตกต่างออกไป ทำให้ฉุกคิดและตั้งคำถามว่าหากเป็นตัวเราเอง เราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่ตัวละครประสบอยู่ เหตุผลที่เขาทำอย่างนั้นเพราะอะไร และเพราะอะไรล่ะเราถึงเลือกทำอย่างนี้ ? สาเหตุที่ต้องทำความเข้าใจตัวละครเช่นนี้ก็เพราะหากผู้แสดงไม่เข้าใจเหตุผล อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแล้วก็ย่อมจะแสดงให้สมจริงไม่ได้ โดยในเวลาเดียวกันนั้น ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นของป๊อบอายก็พลอยเติบโตขึ้นไปด้วย “สำหรับตัวผมเองแล้ว การมาทำกิจกรรมนี้ได้อะไรกลับไปเยอะมากๆ ทำให้ผมรู้จักการทำงานร่วมเป็นทีม ความมีวินัยในตัวเอง และการรู้จักที่จะมีวินัยเพื่อคนอื่น” ป๊อบอายว่า นอกจากนั้น ทักษะการละครที่น้องๆ ได้รับยังจะเป็นเครื่องมือถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตและข้อคิดดีๆ ที่เยาวชนกลุ่มนี้สามารถนำไปแบ่งปันสู่เพื่อนร่วมสังคมในรูปแบบที่เข้าใจง่าย มีสีสัน และมีพลังน่าดึงดูดใจ ทั้งนี้เพื่อส่งต่อเรื่องราว “จิตอาสา” ซึ่งก่อตัวขึ้นในระหว่างกระบวนการกิจกรรมทีละน้อยๆ แต่ซึมลึกในจิตใจของพวกเขาว่า “จิตอาสา” นอกจากจะเป็นการเสียสละทรัพย์สินเพื่อความสุขของผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแล้ว ยังจะเป็นการสละเวลา แรงกาย และแรงใจเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นในลักษณะของความเอื้ออาทรต่อกันฉันท์มิตรของผู้คนในสังคมด้วย ในเรื่องนี้ น้องปุ้ย —นางสาวศรัญญา แซ่เจีย สมาชิกสาววัย 15 ปี จากชั้น ม.4 โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ สะท้อนหลังได้เข้ามาสัมผัสกระบวนการละครกับจิตอาสาด้วยตัวเธอเองว่า ทั้งคู่ต่างมีจุดหนึ่งที่เหมือนกันคือเรื่องของ “จิตใจ” ซึ่งต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหากไม่ได้ทำสิ่งทั้งสองออกมาด้วยใจและใช้ใจสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกออกมาแล้วก็จะเป็นเพียงการกระทำที่ไม่ใคร่จะก่อให้เกิดคุณค่าอะไรมากนัก “ในการแสดงละคร หากเราต้องการสื่อให้ข้อคิดบางอย่างแก่ผู้ชม ขั้นแรกเราจะต้องเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครนั้นก่อน เมื่อเราทำได้แล้ว คนดูถึงเข้าถึงตัวละครมากขึ้น หากเราแสดงไปโดยเน้นแต่เรื่องเทคนิค ผู้ชมอาจดูเฉยๆ แต่หากเรามีอารมณ์เข้าถึง คนดูก็จะร้องไห้ตามตัวละครไปด้วย จิตอาสาก็เหมือนกัน หากเรามีจิตใจที่จะทำจริงๆ มันก็จะมีคุณค่าเกิดขึ้น เราอาจจะช่วยคุณลุงข้ามถนนแล้วก็ถือว่าได้ทำไปแล้วก็เป็นแค่การช่วยธรรมดา แต่ถ้ามีใจเข้าไปด้วย มันจะมีคุณค่ามากขึ้น” ปุ้ยกล่าว โดยผลลัพธ์ที่ได้จากกิจกรรมทำให้เธอรู้จักเอาใจใส่ผู้อื่นมากขึ้น และเปลี่ยนตัวเองจากคนที่แสดงความรู้สึกไม่เป็นมาเป็นคนที่รู้จักการถ่ายทอดความรู้สึกจริงๆ ให้ผู้อื่นรับรู้ ส่วน น้องนัท — นางสาวนัทธ์หทัย นิ้มมั่นคงเจริญ จากชั้น ม.4 โรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ฯ ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเธอบ้างว่า “เมื่อก่อนหนูจะเป็นคนที่ไม่สนใจคนอื่นเลย จะสนใจแต่กับเรื่องของตัวเอง ทั้งยังมองโลกในแง่ร้าย มีอยู่ครั้งหนึ่งกำลังยืนรอรถเมล์อยู่แล้วมีลูกไม้หล่นใส่หัว ก็คิดก่อนเลยว่าใครนะมาตบหัวเรา หงุดหงิดมาก หันซ้ายหันขวาจะเอาเรื่องกับคนที่มาตบหัวให้ได้ แต่พอมาทำกิจกรรมตรงนี้ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วในสังคมยังมีคนดีและเรื่องราวดีๆ อยู่” “หากไม่ได้มาทำกิจกรรมนี้ หนูคงจะพลาดเรื่องจิตอาสาไปแน่นอน อย่างตอนนี้ได้มาทำอะไรที่เป็นจิตอาสาแล้ว มันก็ทำให้เราคอยบอกตัวเองให้มีจิตอาสานะ และกล้าที่จะทำความดีมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนมีคนแก่ขึ้นรถเมล์ก็จะมองตำหนิคนอื่นว่าทำไมไม่ลุกให้เขานั่งนะ ทั้งที่ตัวเองก็ไม่กล้าจะลุกให้เขานั่งเหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้มีความกล้านั้นแล้ว” นัทว่า เช่นกันกับ น้องปลา — ปาลีรัตน์ กลการวิทย์ อีกหนึ่งสมาชิกสาวจากชั้น ม.4 โรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ฯ สะท้อนว่า การมาร่วมกิจกรรมนี้ไม่เพียงทำให้เธอเข้าใจกระบวนการละครมากขึ้นว่า เป็นความตั้งใจจริงที่จะถ่ายทอดเรื่องราวไปยังผู้ชมได้คิดตามและเก็บข้อคิดในละครไปประยุกต์ใช้ เป็นประโยชน์กับเท่านั้น แต่มันยังทำให้เธอได้สัมผัสกับแง่มุมจิตอาสาที่แฝงอยู่ในกระบวนการละครด้วย “สำหรับปลาแล้วเมื่อก่อนก็อยากทำจิตอาสาเหมือนกัน เคยเห็นแต่ในทีวี เห็นคนอื่นทำกิจกรรมจิตอาสา ก็อยากช่วยเหลือเขาบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เมื่อได้มาทำกิจกรรมนี้ทำให้ได้เริ่มทำกิจกรรมจิตอาสาผ่านกระบวนการละคร และยังได้เจอเพื่อนใหม่หลายคนที่เขาทำกิจกรรมจิตอาสาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้าไปพูดคุยด้วยก็ทำให้เห็นช่องทางทำกิจกรรมด้านนี้มากขึ้น “หากมีโอกาสก็อยากทำกิจกรรมจิตอาสามากขึ้นนะ ทำกิจกรรมละครจิตอาสาแล้วก็อยากทำกิจกรรมจิตอาสาอื่นๆ ด้วย มาที่นี่แล้วรู้สึกว่าเรามีจิตอาสามากขึ้น ปิดเทอมที่ผ่านมาได้มาซ้อมละครกับเพื่อนๆ มีอะไรให้ทำทุกวัน แทบไม่ได้อยู่บ้านเลย แต่ก็ดีกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ สบายอยู่คนเดียว แต่ว่าการทำอะไรให้ผู้อื่นมันมีความสุขมากกว่า” ปลาปิดท้ายอย่างมีความสุข ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 0-2544-5692

แท็ก ศิลปะ   ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ