กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
อนามัยโลกตั้งผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ เป็นกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกำหนดแนวทางดูแลปัญหาประชาชนจากการขยายตัวของเมือง ส่งเสริมประชาชนเข้าถึงสาธารณสุข เท่าเทียม และยุติธรรม ด้านผู้ว่าฯ เสนอที่ประชุม เน้นดูแลประชาชนเขตเมืองปลอดวัณโรค ไข้หวัดสายพันธุ์ 2009 ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และภาวะโรคซึมเศร้า
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนเองได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลก ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์พัฒนาสุขภาพองค์การอนามัยโลก และเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์พัฒนาสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 13 (13th Meeting of the Advisory Committee of the WHO Centre for Health Development :MCWKC) เมื่อวันที่ 10—11 พ.ย. 52 ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงแนวทางในการกำหนดกรอบการทำงานของศูนย์พัฒนาสุขภาพขององค์การอนามัยโลก รวมถึงศึกษาผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชากรโลก และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในเมือง ซึ่งศูนย์พัฒนาสุขภาพขององค์การอนามัยโลกได้วิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรม และการขยายตัวของเมืองนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในเมือง โดยองค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำถึงวิธีการจัดการต่อภาวะของเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยการทำให้ประชาชนสามารถ ”เข้าถึง อย่างเท่าเทียม และยุติธรรม” นอกจากนี้ในการประชุมยังได้ย้ำบทบาทของศูนย์พัฒนาสุขภาพขององค์การอนามัยโลกในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขยายตัวของเมืองและความเสมอภาคด้านสุขภาพ โดยให้เมืองต่างๆ ยึดถือเป็นนโยบายหนึ่งของเมือง
ผู้ว่าฯกทม. เผยคนเมืองเกิดภาวะซึมเศร้าจากวิกฤติเศรษฐกิจเร่งหาทางส่งเสริมสุขภาพ
ทั้งนี้ในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาการขยายตัวของเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งย้ำความต่อเนื่องในการดำเนินงานด้านการสาธารณสุขในการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยยกตัวอย่างการดำเนินนโยบายด้านการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยวัณโรคอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด โครงการสร้างเสริมสุขภาพและดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และการดูแลสุขภาพของประชาชนจากโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นผลกระทบจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้าซึ่งส่งผลทำให้สุขภาพกายและใจของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองถดถอยนั้น ประมาณการในปัจจุบันพบว่า มีประชาชนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 300,000 คนทั่วประเทศไทย โดยในกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดเป็นอัตราร้อยละ 4.4 และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต จำเป็นยิ่งที่จะต้องเร่งส่งเสริมภาวะสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน
กทม. ร่วมเป็น 1 ใน 1,000 เมือง รณรงค์ประชาชนรักษ์สุขภาพ
กทม. ได้กำหนดร่วมจัดงานวัน World Health Day 2010 (พ.ศ. 2553) ในเดือนเมษายน 2553 ภายใต้แคมเปญ “1,000 cities, 1,000 lives” (1,000 เมือง 1,000 ชีวิต) ขององค์การอนามัยโลก โดยจะเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพประชาชนพร้อมกับเมืองต่างๆ 1,000 เมืองทั่วโลก เช่น กิจกรรมขี่จักรยาน และการออกกำลังกาย เป็นต้น นอกจากนี้จะจัดกิจกรรมค้นหาแชมเปี้ยนด้านการส่งเสริมสุขภาพที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือผลักดันด้านสุขภาพที่ดีต่อคนเมือง ซึ่งขณะนี้มีเมืองเข้าร่วมแล้ว 76 เมือง โดยกทม. จะรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การอนามัยโลกในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและแข็งแรงให้แก่ประชาชนในเมืองต่อไป
องค์การอนามัยโลกชื่นชมผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ตั้งเป็นกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาค
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับเกียรติจากองค์การอนามัยโลกให้ดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์พัฒนาสุขภาพองค์การอนามัยโลก จากคณะกรรมการที่ปรึกษาทั้งสิ้น 9 คน โดยจำนวน 6 คนเป็นตัวแทนจาก 6 ภูมิภาคทั่วโลกซึ่งเป็นระดับผู้นำเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข ส่วนอีก 3 คนเป็นตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นในฐานะประเทศเจ้าภาพและผู้สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ฯ มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ระหว่างปี 2552-2554 มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำกับผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยของศูนย์พัฒนาสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกในการวิจัยสุขภาพในภาคส่วนต่างๆ ตามความต้องการเร่งด่วนขององค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับทิศทางและการพัฒนาโครงการต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างประเทศด้วยการสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันวิจัยและหน่วยงานวิจัย ตลอดจนทบทวนกิจกรรมการวิจัย ควบคุมดูแลการปฏิบัติภารกิจ และประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมถึงสนับสนุนให้ศูนย์ปฏิบัติภารกิจศึกษาวิจัยอย่างสอดคล้องและถูกต้องตามนโยบายและกลยุทธ์ทั่วโลก