RRC จับมือ ATC สานพลังปิโตรเลียม-ปิโตรเคมีไทยสู่ระดับสากลร่วมลงทุนพันล้านเหรียญในโครงการขยายกำลังการผลิตร่วม

ข่าวทั่วไป Friday February 10, 2006 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) (Rayong Refinery Public Company Limited - RRC) ลงนามในข้อตกลงในหลักการโครงการขยายกำลังการผลิตร่วมกับ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (The Aromatics (Thailand) Public Company Limited - ATC) เพื่อก่อสร้างโรงงาน Reforming Complex โรงงาน Upgrading Complex และโรงงาน Aromatics Complex มูลค่ารวมพันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ตั้งเป้าเสริมศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีไทยสู่ระดับสากล
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามในข้อตกลงในหลักการ (Heads of Agreement) ระหว่าง RRC และ ATC สำหรับโครงการลงทุนเพื่อการขยายงานของทั้งสองบริษัทซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,073 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย RRC จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงาน Reforming Complex ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 387 ล้านเหรียญสหรัฐ (+/- 5%) และโรงงาน Upgrading Complex ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 135 ล้านเหรียญสหรัฐ (+/- 30%) ส่วน ATC จะเป็นผู้ลงทุนในโรงงาน Aromatics Complex ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 551 ล้านเหรียญสหรัฐ (+/- 5%) ทั้งนี้ RRC และ ATC ตกลงในหลักการที่จะแบ่งผลประโยชน์รวมที่เกิดจากการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวตามสัดส่วนเงินลงทุนของแต่ละบริษัทต่อการลงทุนรวม
โรงงาน Reforming Complex ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 ของ ATC จะใช้ Condensate จาก ปตท. และ จากการนำเข้าจากต่างประเทศรวมกันประมาณ 65,000 บาร์เรลต่อวันเป็นวัตถุดิบในการผลิต Reformate เพื่อป้อนโรงงาน Aromatics Complex ที่ ATC ก่อสร้างขึ้นใหม่เพื่อดำเนินการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ต่างๆ (พาราไซลีน เบนซีน โทลูอีน และไซลีน) รวมกันประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ส่วนโรงงาน Upgrading Complex จะทำหน้าที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พลอยได้ที่ได้จากโรงงาน Reforming Complex เช่น Condensate Residue และ Light Naphtha ให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปต่างๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเตา เป็นต้น นอกจากนั้น โรงงาน Upgrading Complex ยังจะช่วยให้ RRC สามารถผลิตน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ที่ได้มาตรฐาน Euro IV ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี พ.ศ. 2553 โดยไม่ต้องลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นเพิ่มเติมอีก เมื่อการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่สามของปี พ.ศ. 2551 จะส่งผลให้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบและวัตถุดิบอื่นๆ ของ RRC เพิ่มจาก 145,000 บาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน เป็นประมาณ 210,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่กำลังการผลิตผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ของ ATC จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,137,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน 1,098,000 ตันต่อปี
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน RRC และ ATC กล่าวว่า โครงการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการประสานประโยชน์ในการดำเนินการผลิตร่วม (Synergy) ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้แก่ทั้งสองบริษัท และคาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจของ RRC และ ATC มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจากลักษณะการดำเนินการผลิตร่วมและการแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าวจะช่วยให้ทั้งสองบริษัทเพิ่มศักยภาพในการหารายได้จากทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมันและธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นายประเสริฐยังกล่าวต่อไปว่า โครงการนี้จะช่วยให้ ATC ได้รับประโยชน์จากการปรับขอบเขตและลดเงินลงทุนของโครงการขยายงาน เนื่องจากไม่ต้องดำเนินการก่อสร้างโรงงาน Reforming Complex เองซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และด้วยโครงสร้างการแบ่งผลประโยชน์จากโครงการนี้ คาดว่าจะทำให้ทั้ง RRC และ ATC ร่วมกันได้ประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์พลอยได้ต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่ RRC จะผลิตเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนดังกล่าว ซึ่ง ปตท. จะเป็นผู้รับซื้อจาก RRC ทั้งหมด
นายพละ สุขเวช ประธานกรรมการ ATC กล่าวว่า ในการพิจารณาการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนนี้ คณะกรรมการบริษัท ATC ได้พิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น รวมทั้งคำนึงถึงความสมเหตุสมผลทุกประการและจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ATC เพื่อขออนุมัติให้ ATC ดำเนินการจัดทำสัญญาที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนนี้กับ RRC ต่อไป ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนดังกล่าว ATC ยังจะได้รับประโยชน์จากความมั่นคงของการจัดหาวัตถุดิบ Reformate ซึ่งจะมาจากโรงงาน Reforming Complex และจากการผลิตของโรงกลั่น RRC ในปัจจุบันด้วย นอกจากนั้น ATC ยังจะสามารถใช้เงินลงทุนที่ลดลงดังกล่าวในโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำ (Downstream Petrochemical Products) เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของ ATC อีกระดับหนึ่ง
ข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)
บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป ที่มีกระบวนการกลั่นหลายขั้นตอนและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถกลั่นน้ำมันดิบและวัตถุดิบอื่นๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่มีคุณค่าสูง (น้ำมันเบนซินและดีเซล) ในสัดส่วนที่สูง โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 145,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 14.3 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในประเทศ
ข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์
อะโรเมติกส์ ได้แก่ เบนซีน โทลูอีน พาราไซลีน ออร์โธไซลีน มิกซ์ไซลีนส์ และผลิตภัณฑ์พลอยได้ ได้แก่ แนฟทาชนิดเบา แรฟฟิเนท ก๊าซปิโตรเลียมเหลว คอนเดนเสท เรซิดิว และสารอะโรเมติกส์หนัก รวมกันประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ และสารตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 71
ที่เหลือส่งออกต่างประเทศ ซึ่งตลาดส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
แถลงข่าวในนาม
บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)
บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
รายละเอียดเพิ่มเติม
เศรษฐวลี วรศะริน (sresdhavalee.v@pttplc.com)
บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)
โทร. 0 2537 3645
ดวงกมล เศรษฐนัง
บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
โทร. 0 2537 5406
โกวิท สว่างวารีสกุล (kovit.sawangvareesakul@ogilvy.com)
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
โทร. 0 2205 6000 ต่อ 6613
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ