กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ก.ไอซีที
นายณัฐวุฒ จิตะสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์ ว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (The Asia-Pacific Telecommunity หรือ APT) ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องในโอกาสที่ APT ก่อตั้งมาครบรอบ 30 ปี พร้อมกันนี้ยังมีการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิก APT เพื่อรับรองถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์ของประเทศในเอเชียและแปซิฟิก (Joint Statement of the Asia-Pacific Ministers on Strengthening Regional Collaboration towards a Broadband Economy)
“ถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวเป็นการแสดงเจตจำนงของประเทศสมาชิก APT ที่จะสืบสานความร่วมมือระดับภูมิภาคในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนร่วมกันพิจารณากำหนดบทบาท ภารกิจ แผนงานของ APT ในการพัฒนาโทรคมนาคมของภูมิภาคสำหรับอนาคต รวมถึงกำหนดแนวทางในการกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมที่มีเทคโนโลยีบรอดแบนด์เป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจบรอดแบรนด์” (Broadband Economy) อันเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคฯ ได้อย่างแท้จริง ซึ่งเนื้อหาของร่างถ้อยแถลงฯ นี้ ได้ให้ความสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนา Broadband Economy โดยมี APT ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยประสานความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก” นายณัฐวุฒ กล่าว
นอกจากนั้นในการประชุมรัฐมนตรีเอเชียและแปซิฟิกครั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังได้กล่าวถ้อยแถลงในนามผู้แทนของกระทรวงไอซีทีเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเชื่อมต่อในระบบบรอดแบนด์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงไอซีทีอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 183 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิก APT จำนวน 30 ประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานด้านนโยบายและผู้บริหารระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรม และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ โดยสำหรับประเทศไทยนั้น นอกจากผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ แล้วยังมีนายนิมิตร ดำรงรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และผู้แทนบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย
อนึ่ง องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านโทรคมนาคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในการพัฒนาข่ายงานโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ โดยมีสมาชิก 34 ประเทศ สมาชิกสมทบ 4 เขตปกครองพิเศษ และสมาชิกในเครือ 121 หน่วยงาน ซึ่งสำนักงานใหญ่ของ APT ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 ทวิติยา