ทีดีอาร์ไอจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี 52 เรื่อง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม”

ข่าวทั่วไป Wednesday November 18, 2009 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาน่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงมาก และเปิดช่องให้มีการแสวงหาผลกำไรส่วนเกินในรูปแบบต่างๆ ทั้งการผูกขาด และการแสวงหาประโยชน์จากโครงการของรัฐ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่มีโอกาสมากที่จะคงอยู่ต่อไป โดยการปฏิรูปการเมืองที่เน้นเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการเลือกตั้ง และความสัมพันธ์ระหว่างฝายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยลำพังจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ตราบใดที่ปัญหาพื้นฐานสำคัญทางเศรษฐกิจเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข มูลนิธิชัยพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงร่วมจัดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 เรื่อง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม (Economic Reforms For Social Justice)” ในระหว่างวันพุธและวันพฤหัสบดีที่ 25-26 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้อง เวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเปิดเวทีทางวิชาการเพื่อแสวงหาแนวทางในการปฎิรูปเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และลดความขัดแย้งทางการเมือง การสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 23 ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ดำเนินการมาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีสถาบันฯ จะเลือกหัวข้อของการสัมมนาที่มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในช่วงนั้น และในครั้งนี้ได้เลือกหัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม” เนื่องจากเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญยิ่งในการกำหนดอนาคตของประเทศไทยในระยะยาว ในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย : การผูกขาดอำนาจเหนือตลาดของบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์และการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร 2)ผลตอบแทนส่วนเกินจากทรัพยากรของประเทศ : สัมปทานและการใช้อิทธิพลเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและป่า 3) มาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม : การวิเคราะห์ภาระภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม และการขยายฐานภาษี 4) มาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม: รายจ่ายของภาครัฐ 5) ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย 6) ทัศนะของประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการสัมมนาจะเป็นการอภิปรายในหัวข้อ “เราจะปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมกันอย่างไร” โดย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tdri.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ