กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ไอบีเอ็ม
โดย ศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ในช่วง 10 ปีถัดจากนี้ ประชาชนในยุค “เบบี้บูม” หรือคนที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่นี้จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาวะที่เรียกว่า “เศรษฐกิจแบบผสมผสานหลายรุ่น” (Multi-Generational Economy) นี้จะกลายเป็นประเด็นสำคัญในทางการเมืองและสังคมในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษนี้
เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะดังกล่าว นายจ้างและพนักงานจะต้องพิจารณาธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุ และชนิดของงานที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานยังคงทำงานอยู่ แม้ว่าจะมีอายุมากขึ้น หนึ่งในวิธีเชิงรุกเพื่อขจัดอุปสรรคกีดขวางต่อธุรกิจในประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก คือ การนำเทคโนโลยีช่วยเหลือ (assistive technology)มาใช้ เพื่อช่วยให้พนักงานยังสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเมื่อมีอายุมากขึ้น
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าประชากรจำนวน 750 ล้านคนถึง 1,000 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 6,000 ล้านคนทั่วโลก มีความบกพร่องในด้านการพูด การมองเห็น การเคลื่อนไหว การได้ยิน หรือการรับรู้ ส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีประมาณ 420 ล้านคนที่มีความบกพร่อง และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอีกสองทศวรรษข้างหน้านี้ สำหรับในประเทศไทย ในปี 2000 มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ 10% ของประชากรทั่วประเทศ แต่จะเพิ่มเป็น 21% หรือหนึ่งในห้าของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2005
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ พนักงานในประเทศที่พัฒนาแล้วมีอายุยืนยาวขึ้น เนื่องจากได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่ดีขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าบรรพบุรุษ นอกจากนั้น ประเทศเหล่านี้กำลังพบกับปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง และในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สนใจศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ มีจำนวนลดน้อยลง เมื่อพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ บริษัททั้งหลายจะพบว่าบุคลากรที่จบการศึกษาในด้านนี้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับทดแทนตำแหน่งงานที่ว่างลง
องค์กรธุรกิจควรทำอย่างไร?
ในปี 2005 สถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ภายใต้หน่วยงาน บิสิเนส คอนซัลติ้ง เซอร์วิส ของไอบีเอ็ม นำเสนอรายงาน “การแก้ไขปัญหาท้าทายของพนักงานสูงอายุ” (Addressing the Challenges of An Aging Workforce) ซึ่งระบุว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาความต้องการในการปฏิบัติงานของพนักงานสูงอายุ เนื่องจากเมื่อพนักงานมีอายุมากขึ้น พวกเขาอาจประสบปัญหาในการอ่านข้อความขนาดเล็กบนหน้าจอ การรับฟังเสียงจากวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือการควบคุมการเคลื่อนไหวของมือ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการควบคุมเมาส์คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวอย่างแม่นยำ รายงานดังกล่าวให้คำแนะนำว่า การออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ องค์กรธุรกิจควรมุ่งที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้และจัดหากลไกต่างๆ ที่เป็นทางเลือกสำหรับการเข้าถึง การแสดงผล และการจัดการเว็บเพจและแอปพลิเคชั่นอื่นๆ
เทคโนโลยีที่เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility Technology) จะช่วยให้พนักงานที่สูงอายุยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเสนอคุณสมบัติและฟังก์ชันการทำงานที่ช่วยให้บุคคลที่ด้อยสมรรถภาพยังคงสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ แม้ว่าจะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ประสบปัญหาสมรรถภาพลดลงเมื่อพวกเขามีอายุมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ การมีเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้บุคคลที่ด้อยสมรรถภาพยังคงใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่อง
ไอบีเอ็มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และได้คิดค้นเทคโนโลยีที่เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility Technology) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มพนักงานผู้สูงอายุ เช่น ซอฟท์แวร์ช่วยอ่านเว็บเพจด้วยเสียง (IBM Home Page Reader) ซอฟท์แวร์ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานของผู้มีปัญหาในการมองเห็นรวมถึงผู้พิการทางสายตา และอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่นการอ่านโปรแกรมคำสั่งเพื่อติดตั้งซอฟท์แวร์ การอ่านอีเมล์และเอกสารแนบเป็นเสียง โดยในปี 2003 ไอบีเอ็มได้เปิดตัว IBM Home Page Reader V3.02 Thai สำหรับการใช้งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ภาวะเศรษฐกิจแบบผสมผสานหลายรุ่น หรือ Multi-Generational Economy เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “ปัญหาท้าทายที่ยิ่งใหญ่” ซึ่งอาจนับเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ สังคมที่จะประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ สังคมที่สนับสนุนและเสนอโอกาสและทางเลือกให้กับพลเมืองของสังคมนั้นตลอดชีวิต รวมถึงผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งในอดีต บุคคลกลุ่มนี้มักจะถูกแยกออกจากกลุ่มคนทำงานอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เราจึงควรทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการที่องค์กร หรือ บริษัทให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้สูงอายุและผู้พิการมากเท่าไร ก็จะเป็นการช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของพวกเขา และสร้างความมั่นใจว่าพนักงานสูงอายุในบริษัทยังคงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Kulwadee Oranphanskul
Communications Specialist
IBM Thailand Co., Ltd.
Email: kulwade@th.ibm.com
Tel. 662 2734013 Fax. 662 2730189
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net