กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สสส.
จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ4 อำเภอของจังหวัดสงขลาคือ สะบ้าย้อย, เทพา, จะนะ และนาทวี ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 และยังไม่มีทีท่าจะยุติลงโดยง่าย ทำให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงต่างๆ เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
ปัญหาการสูญเสียผู้นำครอบครัวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวของผู้สูญเสียซึ่งส่วนใหญ่เป็นภรรยาและลูก ทั้งปัญหาเรื่องของการแบกรับภาระทางเศรษฐกิจและการเลี้ยงดูบุตรหลานตามลำพัง รวมไปถึงสภาวะความทุกข์ยากทางจิตใจจากความเครียด ความวิตกกังวล ในปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านปัจจัยการดำรงชีวิต แต่ก็ยังมีปัญหามากมายทั้งความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงสวัสดิการ และการขาดการเยียวยาด้านจิตใจ
“โครงการสนับสนุนเครือข่ายครอบครัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ 3 จังหวัดชายภาคใต้ให้พึ่งตนเองได้” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนครอบครัวผู้สูญเสียให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐพัฒนาเครือข่ายครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสียให้มีความเข้มแข็ง และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
นางเอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ หัวหน้าโครงการสนับสนุนเครือข่ายครอบครัวเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ เป็นอีกคนหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยในปี 2549 สามีถูกยิงบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวนานกว่า 3 เดือน และเมื่อต้องมาเจอกับปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ จากรัฐ ซึ่งถึงแม้ว่าตนเองจะรับราชการและมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุเหร่า อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ยังมีความยุ่งยากในการเข้าถึง ทำให้เข้าใจสภาพจิตใจรวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้สูญเสียรายอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี จึงดำเนินงานโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้สูญเสียให้เข้าถึงสวัสดิการ รวมไปถึงดูแลปัญหาสภาพจิตใจที่ให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง
“ปัจจุบันเราเข้าไปดูแลครอบครัวผู้สูญเสียจำนวน 20 ครอบครัวจากอำเภอ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย โดยในช่วงแรกของการทำงานจะเน้นไปที่การดูแลสภาพจิตใจ โดยเชิญจิตแพทย์มาให้คำปรึกษา และพาสมาชิกผ่านกระบวนเยียวยาด้านจิตใจทั้งศิลปะบำบัด และดนตรีบำบัด ซึ่งหลายๆ คนหลังจากที่ได้เจอกันครั้งแรก มีอาการนอนไม่หลับมาหลายเดือน บ้างก็หวาดผวาเหมือนกับเป็นโรคจิต บ้างก็เครียดจนเป็นลมชัก พอเราได้มาเจอมาพบปะพูดคุยให้กำลังใจซึ่งกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สูญเสียด้วยกัน ทำให้เขารู้สึกว่าก็มีคนที่ดูแลห่วงใยเขาอยู่ ทำให้สภาพจิตใจของเขาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ” อาจารย์เอกจิตราระบุ
โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ทางโครงการฯ จัดขึ้นโดยร่วมกับ “ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อวิถีชุมชน” จัดกิจกรรม “ธรรมชาติบำบัด : กินให้น้อยให้เป็น ชนะทุกโรค” เพื่อสนับสนุนครอบครัวผู้สูญเสียให้เกิดความรู้ในการพึ่งพาและบำบัดโรคด้วยตนเองโดยวิถีธรรมชาติ เพื่อลดทุกข์สร้างสุขเพิ่มพลังจิตใจให้เข้มแข็ง
นายกิติภพ สุทธิสว่าง วิทยากรและผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน กล่าวถึงกิจกรรมธรรมชาติบำบัดว่าจัดขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดของครอบครัวผู้สูญเสียโดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ของตนเองและสมาชิกในครอบครัวโดยให้ความสำคัญต่อการดูและพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งเกิดผลดี 2 ด้านทั้งในเรื่องของสุขภาพและเศรษฐกิจ และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือเมื่อทุกคนได้มากิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความทุกข์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันแบ่งเบาปัญหาเพราะธรรมชาติบำบัดไม่ได้มีการแบ่งเชื้อชาติศาสนา เนื่องจากสอดคล้องกับหลักปฏิบัติทางศาสนาทั้งพุทธและมุสลิม ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ถ้าเป็นไข้หวัดโดยปกติก็จะนึกถึงแต่ยาพารา เราลองปรับแนวคิดใหม่ ถ้าเป็นไข้หยุดกิน แค่จิบน้ำจนไข้ลด ดื่มน้ำมะพร้าวและทานผลไม้เท่านี้ก็จะหาย ไม่ต้องไปซื้อยาเพราะหลักธรรมชาติบำบัด ถ้าเป็นไข้แสดงว่าร่างกายต้องการพักและกำลังเยียวยาตัวเองอยู่ หรือหากท้องเสีย หมายถึงร่างกายกำลังขับพิษ เพราะได้รับสิ่งไม่ได้ดีเข้าไป เราก็ปล่อยให้ถ่ายไป แต่ถ้าเกิน 7 ครั้งก็ให้กินน้ำผึ้งรวงสัก 1-2 ช้อน อาการท้องเสียก็จะหยุด เสร็จแล้วก็ค่อยกินน้ำมะพร้าวก็จะช่วยบรรเทาการได้” นายกิติภพเผย
นางพรชนก พรหมช่วย หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย เล่าย้อนไปถึงสภาพจิตใจของตนเองภายหลังจากสามีที่รับราชการเป็นตำรวจเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2549 ว่าต้องใช้เวลานานกว่า 7 เดือนกว่าที่จะเริ่มทำใจได้ และตลอดเวลายังต้องเผชิญกับปัญหาทั้งทางด้านจิตใจ ชีวิตจะมีแต่คำถามว่าทำไมเราต้องเป็นแบบนี้ ทำไมต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ และแรงกดดันสังคมโดยรอบที่มองว่า เป็นแม่ม่ายเมียตำรวจต้องได้เงินเยอะไม่กี่วันก็ได้สามีใหม่ก็ยิ่งทำให้ร้องไห้แทบทุกวัน
“ได้มาเข้าโครงการในปี 51 หลังจากนั้นก็มาร่วมกิจกรรมแทบทุกครั้ง แต่ละครั้งก็จะได้ความรู้สึกที่ดีๆ ที่ไม่สามารถไปหาได้จากที่ไหน มีเงินก็ซื้อไม่ได้เพราะว่าทุกคนจะมีความรู้สึกเดียวกันคือเหมือนขาดที่พึ่งขาดความอบอุ่น ซึ่งญาติพี่น้องก็ให้เราไม่ได้เพราะเขาไม่รู้สึกถึงความสูญเสียเหมือนอย่างคนที่มีปัญหาเหมือนกัน และการไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกันก็ทำให้เราเห็นว่าคนอื่นก็มีทุกข์มากกว่าเรา ทำให้มีแรงกระตุ้นให้ต่อสู้ชีวิตและต้องทำงานต่อไปเพื่อลูก ก็เลยรู้สึกว่าอบอุ่นใจ ได้ความรู้สึกที่ดี ได้กลุ่มเพื่อนผู้สูญเสียที่ช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน และจากการเข้าร่วมกิจกรรมธรรมชาติบำบัด ทำให้เราเห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งที่อยู่รอบตัวเราว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายของตัวเรา โดยจะนำแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบพอเพียงโดยพึ่งพาธรรมชาติไปปรับใช้กับชีวิตตนเอง” นางพรชนกกล่าว
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. กล่าวถึงโครงการสนับสนุนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสียฯ ว่าปัจจุบันสิ่งที่ภาครัฐให้สวัสดิการกับครอบครัวผู้สูญเสียที่เป็นข้าราชการจะให้แต่ในเรื่องที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพ ซึ่งไม่ได้กินความไปถึงคำว่าสุขภาวะทั้งหมด เพราะว่าความทุกข์ของครอบครัวผู้สูญเสียเหล่านั้นยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะความทุกข์ในใจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาและแก้ไข
“จากการลงพื้นที่พบว่าครอบครัวผู้สูญเสียส่วนใหญ่ยังคงเศร้าโศกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่พูดถึงก็ยังร้องไห้ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับจากภาครัฐนั้นยังไม่เพียงพอ จึงน่าที่จะมีกิจกรรมที่จะทำให้คุณแม่หรือลูกๆ ผู้สูญเสียเหล่านั้นพัฒนาจิตของตนเองขึ้นมาให้เกิดความเข้มแข็งให้ได้ ทาง สสส.จึงเข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติมไปจากสิ่งที่รัฐให้มา โดยเฉพาะการดูแลในเรื่องของจิตใจซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องปัจจัยการดำรงชีพ โดยสิ่งที่เราก็คือต้องการผลักดันให้เขาเป็นกลุ่มและเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือเยียวยาและแบ่งปันซึ่งกันและกัน และเป็นโครงการนำร่องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำองค์ความรู้และแนวทางการทำงานไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียไม่เพียงแต่ครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นแต่รวมไปถึงครอบครัวของประชาชนที่สูญเสียด้วย” นายวันชัยกล่าวถึงแนวทางการทำงานของ สสส.
“บางคนสามีตายมา 2-4 ปีไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ ลูกก็ต้องพักการเรียน ภรรยาก็ไม่มีอาชีพแล้วครอบครัวของเขาจะอยู่ได้อย่างไร บางคนที่ไม่มีความรู้ก็ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ แล้วก็จะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีกเท่าไหร่ ซึ่งในปัจจุบันหลังจากที่เราได้ดำเนินโครงการมาได้ 2 ปีได้เกิดการขยายผลการทำงานโดยมีครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่ก้าวพ้นออกมาจากความทุกข์ แล้วมาช่วยคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยไม่จำกัดว่าเป็นครอบครัวข้าราชการเท่านั้น ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของโครงการ และตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายผลของกลุ่มเครือข่ายออกไปทุกอำเภอ เพื่อให้องค์ความรู้ด้านการดูแลสนับสนุนช่วยเหลือผู้สูญเสียลงไปสู่ชุมชนได้มากขึ้น” อาจารย์เอกจิตรากล่าวสรุป