สอท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 49 ขยับขึ้นเล็กน้อย เหตุอัตรา ดอกเบี้ยทรงตัว ราคาน้ำมันลด

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2006 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 49 ขยับขึ้นเล็กน้อย เหตุอัตรา ดอกเบี้ยทรงตัว ราคาน้ำมันลด ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัว เอกชนเสนอใช้มาตรการภาษี แก้ไขปัญหาการเมือง สร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 502 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 85.6 จาก 81.4 ในเดือนกรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณทุกปัจจัยปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และ ปริมาณการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.1 89.3 และ 103.5 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 96.2 94.4 และ 103.8 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ และ ผลการประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 53.3 และ 90.4 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 63.0 และ 98.6 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ
สำหรับสาเหตุที่ค่าดัชนีปรับค่าเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากขณะทำการสำรวจในช่วงเดือนสิงหาคม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศในการดำเนินกิจการในด้านต่างๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ค่าดัชนีปัจจุบันในแต่ละปัจจัยของเดือนสิงหาคมอยู่ในระดับทรงตัว อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงทรงตัว และราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและการลงทุนของกิจการมากยิ่งขี้น ตลอดจนการที่มียอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการได้ดีในระดับหนึ่ง สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยขอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน ชะลอการปรับราคาสาธารณูปโภค และใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องวัตถุดิบ ตลอดจนเร่งแก้ปัญหาการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนสิงหาคม 2549 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับค่าดัชนีหลัก คือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และ ยอดขายในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 87.5 107.7 88.4 และ 104.4 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 89.3 107.8 92.0 และ 108.9 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของราคาขาย สินค้าคงเหลือ การจ้างงาน และการใช้กำลังการผลิต เพิ่มขึ้นจาก 122.1 111.9 102.5 และ 117.5 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 126.0 112.8 103.9 และ 118.2 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของการลงทุนของกิจการ การลงทุนในประเทศ สินเชื่อในการประกอบการ และ สภาพคล่องของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 95.7 93.6 100.9 และ 82.2 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 96.1 94.7 102.9 และ 90.3 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของความสามารถในการแข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 92.9 84.6 87.5 และ 88.9 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 94.3 109.0 106.9 และ 100.3 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ
สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนกรกฎาคมกับเดือนสิงหาคม 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 31 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง 17 กลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เปลี่ยนแปลง 1 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร โดยค่าดัชนีคงที่อยู่ที่ 83.1 ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมี 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพิ่มขึ้นจาก 75.6 เป็น 89.1 อุตสาหกรรมเครื่องจักกลการเกษตร เพิ่มขึ้นจาก 61.1 เป็น 81.4 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 86.6 เป็น 104.7 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นจาก 83.0 เป็น 115.4 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 77.0 เป็น 97.2 อุตสาหกรรมเซรามิก เพิ่มขึ้นจาก 70.5 เป็น 97.6 อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เพิ่มขึ้นจาก 58.9 เป็น 94.3 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นจาก 55.4 เป็น 84.8 อุตสาห-กรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นจาก 93.9 เป็น 115.9 อุตสาหกรรมเหล็ก เพิ่มขึ้นจาก 66.6 เป็น 79.8 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพิ่มขึ้นจาก 78.7 เป็น 109.1 และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพิ่มขึ้นจาก 82.1 เป็น 96.9 สำหรับสาเหตุที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการได้ปรับตัวโดยใช้มาตราการลดของเสีย ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันมี 13 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ลดลงจาก 115.8 เป็น 72.9 อุตสาหกรรมเคมี ลดลงจาก 88.1 เป็น 70.5 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ลดลงจาก 91.5 เป็น 76.5 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ลดลงจาก 83.8 เป็น 63.3 อุตสาหกรรมยา ลดลงจาก 106.7 เป็น 82.9 อุตสาหกรรมรองเท้า ลดลงจาก 97.3 เป็น 77.4 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ลดลงจาก 90.0 เป็น 66.7 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 84.7 เป็น 69.4 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ลดลงจาก 110.7 เป็น 94.1 อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม ลดลงจาก 97.4 เป็น 68.6 อุตสาหกรรมน้ำตาล ลดลงจาก 95.4 เป็น 76.8 อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า ลดลงจาก 102.2 เป็น 88.7 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ลดลงจาก 80.2 เป็น 67.4 ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าดัชนีของรายกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะที่อุปสงค์ต่อสินค้าลดลง ทำให้ตลาดรวมซบเซา
ในด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ปัจจัยด้านราคาเชื้อเพลิง ค่าบริการสาธารณูปโภค ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 — 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 81.6 และ 84.6 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 83.7 และ 94.6 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 — 49 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมลดลงจาก 78.6 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 78.0 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด พบว่า มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 78.0 86.6 65.0 และ 74.9 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 84.3 94.6 79.5 และ 83.2 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกมีค่าดัชนีลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยจาก 92.6 เป็น 92.3 ในเดือนสิงหาคม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ