กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ยูเอสซีอาร์ไอ
สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย (ยูเอสซีอาร์ไอ-USCRI) ร่วมกับ คณะกรรมการเครือข่ายอุดมศึกษาและภาคธุรกิจ (Business University Forum of Thailand — BUF), มหาวิทยาลัยสยาม และ บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) — CPN จัดกิจกรรม “โครงการประกวดแผนธุรกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า” ภายใต้แนวความคิดสนับสนุนการพัฒนาและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อชุมชน บนรากฐานเศรษฐกิจพอเพียง และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทมีเวทีนำเสนอแนวคิดทางธุรกิจที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์พร้อมด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีผ่านแนวคิดและเขียนเป็นแผนธุรกิจสำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และส่งเสริมการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั้งคนไทยและผู้ลี้ภัย
คุณวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย (ยูเอสซีอาร์ไอ) ผู้ริเริ่มโครงการ กล่าวยว่าโครงการนี้เกิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักคือ รัฐบาลไทยมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนด้านต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งค่อนข้างจะเป็นไปได้อย่างยากลำบากเนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น สังคม และ ความมั่นคง การจัดตั้งโครงการนี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ และ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีเวทีในการนำเสนอผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
นายไพรัช ลำยอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ประธานในพิธี กล่าวว่าประเทศไทยมีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศพม่ามากกว่า สองพันกิโลเมตรซึ่งกินพื้นที่ถึง 10 จังหวัดซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ แต่ก็เป็นไปได้อย่างยากลำบาก การจัดงานนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งชุมชนในพื้นที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
Mr. Adam Zerbinopoulos Deputy Refugee Coordinator for Southeast Asia ตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า สถานการณ์บริเวณชายแดนไทย — พม่า อยู่ในความสนใจของทั้งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งชุมชนของชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากทางฝั่งพม่าทาง เมื่อเร็วๆ นี้ทาง UNHCR และองค์กรอิสระต่างๆ ได้นำเสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐบาลไทย ภายใต้แนวความคิดว่า หัวใจหลักของการแก้ไขปัญหานี้คือการเปลี่ยนจากการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นการพัฒนา ซึ่งความช่วยเหลือใดๆ ที่จะเข้าไปในค่ายพักพิง ควรจะสอดคล้องกับชุมชนชาวไทยรอบๆ ค่าย เพื่อที่ความช่วยเหลือใดๆ ที่จะเข้ามาจากต่างประเทศจะได้เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายและชุมชนชาวไทย ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นว่าแนวความคิดนี้เป็นก้าวสำคัญในการที่จะแก้ปัญหาในส่วนนี้ หากแต่การจะนำแผนนี้ไปใช้ได้จริงต้องได้รับความร่วมมือและจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทางรัฐบาลไทยหรือผู้สนับสนุนจากต่างประเทศ โครงการการประกวดแผนธุรกิจนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า USCRI ได้ก้าวไปข้างหน้าในการสนับสนุนการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับชุมชนชาวไทยและผู้ที่ต้องการโอกาสทั้งหลาย ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดของชุมชนต่างๆ คือ ทรัพยากรมนุษย์ การประกวดแผนธุรกิจครั้งนี้นอกจากจะแสดงศักยภาพของนักศึกษาแล้วยังสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงอีกด้วย
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ตัวแทนจากคณะกรรมการเครือข่ายอุดมศึกษาและภาคธุรกิจ (Business University Forum of Thailand — BUF) และ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคการศึกษาและเป็นผู้ร่วมจัดโครงการหลักในครั้งนี้กล่าวว่าทาง BUF และมหาวิทยาลัยสยามสนับสนุนกิจกรรมของนิสิต — นักศึกษามาโดยตลอด ซึ่งโครงการฯนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากอีกครั้งหนึ่งที่จะให้นักศึกษามีเวทีในการแสดงความสามารถ ทาง BUF และมหาวิทยาลัยสยามรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทาง ยูเอสซีอาร์ไอ ได้ริเริ่มโครงการฯนี้ขึ้นมา เนื่องจากจะเป็นการเสริมศักยภาพของนิสิต — นักศึกษาให้พัฒนาความรู้ความสามารถ และได้นำทฤษฎีที่ได้เรียนรู้นำไปปฏิบัติจริง อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นโครงการที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน
ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาจำกัด (มหาชน) — CPN กล่าวว่า CPN ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริม และพัฒนาสังคมในช่วงที่ผ่านมาทาง บริษัทฯ ก็มีกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านต่างๆ เช่น กิจกรรมทางการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม CPN จึงยินดีสนับสนุนโครงการฯนี้เพราะไม่เพียงแต่ส่งเสริมความรู้ความสามารถของนิสิต — นักศึกษา และสนับสนุนการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เท่านั้น หากแต่ผลลัพธ์ที่จะได้จากการทำโครงการฯ ก็สามารถที่จะนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการโอกาสในพื้นที่ตามแนวชายแดน ซึ่งโครงการฯนี้ถือได้ว่าทำประโยชน์ให้แก่ทั้งตัวของนักศึกษาเอง และ ชุมชน CPN ในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจมีความภูมิใจที่จะสนับสนุนโครงการดีๆ อย่างนี้และขอขอบคุณ ยูเอสซีอาร์ไอ และ BUF ในการสร้างสรรค์และนำเสนอโครงการฯที่ดีอย่างนี้สู่สังคม
คุณได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ ในฐานะทูตผู้ลี้ภัยชาวไทยคนแรกและผู้สนับสนุนหลักของ USCRI ประจำประเทศไทยกล่าวถึงโครงการฯนี้ว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยไปในเยี่ยมชุมชนในพื้นที่แนวชายแดนไทย — พม่า ได้เห็นว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นั่นยังต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือที่จะสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้พวกเขาเหล่านั้นพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลในขณะนี้นั้นยังไม่สามารถตอบสนอง ความต้องการที่มีมากได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้ และสุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาสมัครกันมากๆ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเองและช่วยเหลือผู้ที่ต้องการโอกาส
โครงการฯ จะเปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และประกาศผลการตัดสินในเดือนมีนาคม 2553 โดยรางวัลมีมูลค่ารวม 1 แสนบาทพร้อมประกาศนียบัตร เป็นรางวัลเงินสด ชนะเลิศ 1 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 1 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท
ภาพจากซ้าย วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ไดอาน่า จงจินตนาการ ไพรัช ลำยอง Adam Zerbinopoulos ดร.พรชัย มงคลวนิช ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา
ผู้ที่สนใจส่งผลงานประกวดในโครงการ โครงการประกวดแผนธุรกิจสำหรับผู้ลี้ภัยและคนไทย ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัครทางเว็บไซด์ http://bplan-uscri.siam.edu และสามารถสมัครผ่านทางอีเมล์มาที่ admin@uscrithailand.org หรือ สมัครผ่านทางไปรษณีย์มาที่ สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ตู้ป.ณ. 1384 ปณฝ. นานา กรุงเทพ 10112 ปิดรับสมัครวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และประกาศผลการตัดสินในเดือนมีนาคม 2553
ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โทร: 02-354-9362 fax: 02-640-9025 หรือ Email: vtianchainan@uscrithailand.org
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-712-6551 ศศิวิมล