กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี
ซีเกทร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเนคเทค มอบทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์รวมมูลค่าหนึ่งล้านบาท แก่ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ “การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ฮิวมานอยด์ขนาดเล็ก ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งแรก
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มอบทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ รวมมูลค่า หนึ่งล้านบาท (1,000,000) ให้กับ 10 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ “การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2552 (Thailand Humanoid Robot Soccer Championship 2009)
ทีมผู้พัฒนาหุ่นยนต์ จำนวน 10 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศและได้รับทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ ทีมละ 100,000 บาทได้แก่
1. ทีมเคเอ็มยูทีที (Team KMUTT) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2. ทีมไคเมร่า (Chimera) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3. ทีมชิบิ ดราก้อน (Chibi Dragon) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. ทีมซีอาร์วี เอฟซี (CRV FC) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5. ทีมซีไอเอ็ม เอ็มยูที (CIM MUT) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
6. ทีมเซ็นต์โซนอร์ คาร์ล่า (Centsonor Carla) จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
7. ทีมต้นกล้า (Tonkla) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
8. ทีมบาร์ทแล็บ ฮิวมานอยด์ (BARTLAB Humanoid) จากมหาวิทยาลัยมหิดล
9. ทีมบีเอสอาร์ยู-วัน (BSRU-I) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
10. ทีมเวอร์ริฟาย (verify) จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็ก ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2552 กล่าวว่า “หลังจากที่คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาผลงานของทุกทีมแล้ว ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศทั้ง 10 ทีม มีผลงานที่ดีและน่าพอใจมาก แม้ว่าทีมส่วนใหญ่จะเป็นทีมใหม่และไม่เคยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์มาก่อน เนื่องจากการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กเพิ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่ทุกทีมก็ยังทำผลงานได้ดี และมีแนวคิดสร้างสรรค์เป็นของตนเอง หุ่นยนต์
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ แต่ละทีมจะต้องทำการสร้างโปรแกรมให้หุ่นยนต์มีความเฉลียวฉลาดและวางแผนการเล่นที่ทำงานเป็นทีมเวิร์ค ซึ่งนอกจากหุ่นยนต์แต่ละตัวจะต้องเล่นฟุตบอลด้วยตนเองแล้วก็ต้องรู้ว่า ใครเป็นฝ่ายเดียวกัน ใครเป็นฝ่ายตรงข้าม และจะต้องยิงประตูอย่างไร ซึ่งการประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้สามารถทำงานดังเช่นที่กล่าวไปแล้วนั้น นิสิตนักศึกษาจะต้องใช้ทักษะความเป็นนักคิด และบูรณาการสาขาวิชาความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้งานในการสร้างหุ่นยนต์ หุ่นยนต์จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ตามโจทย์ที่ตั้งไว้”
สำหรับกติกาในรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้ง 10 ทีมจะได้รับพื้นที่บนเว็บไซต์ไว้สร้างบล็อก (blog) ของทีมตนเอง ซึ่งทุกทีมจะต้องรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาหุ่นยนต์ให้คณะกรรมการพิจารณาทุก ๆ วันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือน รวมทั้งหมด 6 ครั้ง กฎกติกาการแข่งขันยึดถือตามหลักสากล ที่คณะกรรมการเวิร์ลโรโบคัพ (World Robocup) กำหนดไว้ ยกเว้นจำนวนหุ่นยนต์ของผู้เล่นที่จะลงสนาม ในกติกาการแข่งขันชิงชนะเลิศประเทศไทย ซึ่งได้กำหนดไว้เพียงทีมละ 2 ตัว โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้น ณ เซ็นเตอร์พ้อยท์ แอนด์ เกตเวย์สยามสแควร์ ในวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2552 จัดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยความร่วมมือกันของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและรวมถึงสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทซีเกท และเนคเทค จำนวนสองล้านสองแสนบาท
การแข่งขันจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรและความชำนาญในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ให้แก่นิสิตนักศึกษา พร้อมกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน ประเทศไทยในการทำโครงการหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนสูง (Advanced Robotics) และที่สำคัญเพื่อหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม การแข่งขัน World Robocup Soccer: Humanoid) ในปีหน้าต่อไป
การแข่งขันหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบโดยมีต้นแบบมาจากร่างกายมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์มีลำตัวพร้อมหัว สองแขน และสองขา ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้นิสิตนักศึกษาต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่มีขนาด 30 - 60 ซม. สำหรับรุ่น Kid size 2 ตัว โดยโจทย์ในการแข่งขันครั้งนี้คือ จำนวนการยิงประตูฟุตบอลที่หุ่นยนต์แต่ละทีมทำได้และหุ่นยนต์ต้องมีความสามารถในการเตะฟุตบอลเข้าประตูด้วย
หลักการสำคัญของแนวความคิดของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ คือการเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัวมันเอง และยังคงทำงานต่อเพื่อบรรลุเป้าหมาย สิ่งนี้เป็นข้อแตกต่างหลักระหว่างฮิวแมนนอยด์และหุ่นยนต์ชนิดอื่น เช่นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่ใช้ปฏิบัติภารกิจในสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างชัดเจนมากกว่า
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com