การบินไทยประสบความสำเร็จในการลดรายจ่ายใน 3 ไตรมาสแรก

ข่าวท่องเที่ยว Friday November 20, 2009 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--การบินไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบความสำเร็จในการควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันเชื้อเพลิงการบิน โดยการลดค่าใช้จ่ายรวม 3 ไตรมาส (มกราคม — กันยายน 2552) คิดเฉลี่ยต่อเดือน ค่าใช้จ่ายได้ลดไปแล้ว 10,300 ล้านบาท จากเป้าหมายการลดค่าใช้จ่ายที่ตั้งไว้ในปีนี้ 11,840 ล้านบาท นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยได้ทุ่มเทอย่างมากในการลดค่าใช้จ่าย และได้ประสบความสำเร็จในการลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงการบิน และมีแนวโน้มว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายที่ต้องลด คือ 15% ของค่าใช้จ่ายจริงของปี 2551 เป็นจำนวนเงินประมาณ 11,840 ล้านบาท ซึ่งความสำเร็จของการลดค่าใช้จ่ายรวม 3 ไตรมาส (เดือนมกราคม — กันยายน 2552) เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเดือน และเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ 11,840 ล้านบาท เท่ากับว่า ค่าใช้จ่ายได้ลดไปแล้ว 10,300 ล้านบาท ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ ที่ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการใช้มาตรการควบคุมและลดค่าใช้จ่าย โดยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการทบทวนกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อมาตรฐานความปลอดภัย หรือการลดคุณภาพของการบริการ ทั้งนี้ การลดค่าใช้จ่ายหลักๆ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - กันยายน 2552 ) มาจากการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าใช้จ่ายของนักบินและลูกเรือ ค่าใช้จ่ายในการตลาด การขาย และโฆษณา ค่าเช่าเครื่องบิน เครื่องยนต์ และอะไหล่ ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลง 12.5% จากปี 2551 ค่าล่วงเวลารวมทุกฝ่าย ลดลง 47.7% จากปี 2551 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับนักบินและลูกเรือ ลดลง 26% จากปี 2551 ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารการจัดการลดลง 19.0% จากปี 2551 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและโฆษณา ลดลง 19.3% จากปี 2551 ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการบิน ลดลง 67% จากปี 2551 ค่าบริการการบิน (ไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง) ลดลง 15.6% จากปี 2551 ค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานลดลง 21.5% จากปี 2551 ค่าเช่าเครื่องบิน และอะไหล่เครื่องบิน ลดลง 63.9% จากปี 2551 นอกจากนี้ ในแต่ละหน่วยงาน ยังมีแนวทางในการปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น คาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ 20.8 ล้านบาท จากการจัดทำโครงการลดค่าใช้จ่ายค่าล่วงเวลา และค่าทำงานกะดึก การปรับลดการลงทุนของสถานีต่างจังหวัดและต่างประเทศ การเจรจาขอลดค่าใช้จ่ายค่าโรงแรมและอาหารกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เครื่องบินไม่สามารถออกเดินทางได้ (Irregularities) เป็นต้น ส่วนฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ คาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ 39.8 ล้านบาท จากการปรับลดการใช้วัสดุในการปฏิบัติการที่ท่าอากาศยานให้เหมาะสม เช่น การใช้แผ่นพลาสติกคลุมสินค้า การปรับเปลี่ยนการทำงานล่วงเวลา การลดค่าใช้จ่ายด้านการส่งเสริมการขาย รวมถึงการย้ายสำนักงานที่ต้องเช่าการท่าอากาศยาน และเจรจาขอลดค่าเช่าใช้พื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย ด้านสายปฏิบัติการ ได้เจรจาต่อรองราคาโรงแรมที่พักของลูกเรือ โดยระหว่างเดือนมีนาคม — กันยายน 2552 ลดลง 37.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ฝ่ายครัวการบิน ยังให้มีการเปิดประมูลการให้บริการอาหารในสถานีต่างประเทศ 8 สถานีที่ใกล้จะหมดสัญญาเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 15.32 ล้านบาท ในปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ