กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--เพอร์เฟ็ค คอนเน็คชั่น
ผู้บริหารโครงการ บาย ไทย เฟิร์ส หรือ ‘โครงการรณรงค์ใช้ซอฟต์แวร์ไทย’ นำโดย ดร.จีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ พาคณะผู้บริหารโครงการฯ เข้าพบคุณยิ่งลักษณ์ วัชรพล ผู้อำนวยการ บริษัท วัชรพล จำกัด และคณะผู้บริหารระดับสูงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพซอฟต์แวร์ไทยผ่านผลงานการใช้ซอฟต์แวร์ของ 9 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลโล่พระอาทิตย์ทองคำ ปี 2552 ได้แก่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ, สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ, บริษัท มิตซู (กัมพูชา) จำกัด, บริษัท บิ๊ก คาเมร่า จำกัด, บริษัท แด๊ดดี้โด (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โมเดิร์น คาส อินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮงเส็งการทอ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ณ อาคารวัชรพล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ดร.จีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์ ประธานกรรมการบริหาร ซิป้า กล่าวว่า จากการรณรงค์การใช้ซอฟต์แวร์ไทยอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดการซื้อซอฟต์แวร์ไทยในผู้บริโภคมีอัตราสูงขึ้น โดยได้ทดลองจากโครงการนำร่องของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ที่จัดแคมเปญกระตุ้นการซื้อซอฟต์แวร์ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนจากเดือนสิงหาคม — กันยายน 2552 พบว่า มียอดการซื้อซอฟต์แวร์ที่ร่วมในโครงการกว่า 70 ล้านบาท คิดเป็นการกระตุ้นยอดขายให้แก่ 29 ซอฟต์แวร์เฮาส์ที่ร่วมโครงถึง 15%
ดร.จีรศักดิ์ กล่าวถึงตัวเลขอุตสาหกรรมไอซีทีประเทศไทย ว่า จากการติดตามการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมาตลอด 4 ปี ภาพรวมมูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์นับตั้งแต่ปี 2549 — 2552 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ปี 2549 = 50,064 ล้านบาท, ปี 2550 = 56,616 ล้านบาท, ปี 2551 = 62,937 ล้านบาท และปี 2552 ที่ได้คาดการณ์ไว้คือ 66,117 ล้านบาท อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตกลับแปรผกผัน คือ ลดลงโดยตลอดจากร้อยละ 20.8 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 13.1, ร้อยละ 11.2 และเป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2552
สิ่งนี้เป็นเครื่องชี้วัดสำคัญที่ทำให้ซิป้าต้องเร่งหากลยุทธ์การขยายอัตราการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งขับเคลื่อนมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศ ให้สร้างรายได้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมไอซีทีไทยได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยหากย้อนกลับไปดูตัวเลขภาพรวมอุตสาหกรรมไอซีที ที่ซิป้าร่วมกับเนคเทคทำการสำรวจเมื่อปลายปี 2551 จะพบว่า ตัวเลข โดยรวมเท่ากับ 542,854 ล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2550 เพียง 8.3% เป็นการใช้จ่ายจากตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เพียง 62,937 ล้านบาทหรือคิดเป็น 11.6% เท่านั้น ซึ่งการใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ในตลาดสื่อสาร คิดเป็น 69.9% มีมูลค่าสูงถึง 379,216 ล้านบาท ขณะที่ลำดับรองลงมา ได้แก่ การใช้จ่ายในตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 75,720 ล้านบาท คิดเป็น 13.9%
สิ่งสำคัญจึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและเห็นประโยชน์ของการนำซอฟต์แวร์มาใช้เพื่อบริหารจัดการในกิจการหรือในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งหากคนส่วนใหญ่เห็นถึงความสำคัญของการนำซอฟต์แวร์มาใช้อย่างเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานแล้วก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน, ต่อประสิทธิภาพการทำงาน และต่อคุณภาพของผลผลิต ส่งผลถึงภาคอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้น ๆ เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนฟันเฟืองขนาดใหญ่ เพราะในท้ายสุดก็จะกลับมาที่รายได้ของอุตสาหกรรมไอซีทีไทย และมูลค่าและการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ในอนาคต
นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวเสริมว่า ในปีนี้ ซิป้าและเอทีเอสไอ ได้จัดทำรางวัลโล่พระอาทิตย์ทองคำขึ้นอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสานเจตนารมณ์การเชิดชูเกียรติองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ไทยได้อย่างเหมาะกับวัตถุประสงค์ และเหมาะกับการบริหารงานจนประสบความสำเร็จสมควรแก่การยกย่องเป็นหน่วยงานต้นแบบในประเทศ โดยในปีนี้ได้พิจารณาคัดเลือกจากหน่วยงานที่เสนอชื่อเข้าชิงจากฝั่งผู้ใช้ซอฟต์แวร์ 30 หน่วยงาน และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ 30 หน่วยงาน ซึ่งผลการตัดสินหน่วยงานที่ได้รับรางวัลโล่พระอาทิตย์ทองคำในฝั่งผู้ใช้ซอฟต์แวร์ทั้งสิ้น 9 หน่วยงาน และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ 9 หน่วยงาน คือ
บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ซอฟต์แวร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล หรือ COACH พัฒนาโดย บริษัท ภูมิซอฟท์ จำกัด, บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารองค์ความรู้ หรือ Jigsaw พัฒนาโดยบริษัท เน็ต-คอม โปรเฟสชั่นแนล จำกัด, เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ใช้ซอฟต์แวร์ด้าน Healthcare หรือ Doctor Fee System พัฒนาโดยบริษัท เอสแคปโซลูชั่นส์ จำกัด, สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ หรือ SRAN Security Center พัฒนาโดยบริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด, บริษัท มิตซู (กัมพูชา) จำกัด ใช้ซอฟต์แวร์บริหารธุรกิจยานยนต์ หรือ MDMS พัฒนาโดยบริษัท ซีเนียร์ คอม จำกัด, บริษัท บิ๊ก คาเมร่า จำกัด ใช้ซอฟต์แวร์บริการ ณ จุดขาย หรือ Ada POS พัฒนาโดยบริษัท เอด้าซอฟท์ จำกัด, บริษัท แด๊ดดี้โด (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ซอฟต์แวร์บริหารธุรกิจร้านอาหาร หรือ pRoMiSe Restaurant , บริษัท โมเดิร์น คาส อินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ จำกัด ใช้ซอฟต์แวร์บริหารทรัพยากรองค์กร หรือ Business Plus และห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮงเส็งการทอใช้ซอฟต์แวร์ระบบโรงงานอุตสาหกรรม หรือ Te ga Pro
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชยองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ไทยอย่างยอดเยี่ยม 2 รางวัล คือ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยยอดเยี่ยม 2 รางวัล คือ บริษัทไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัท ดีเอ็ม แอคเซส จำกัด ซึ่งพิธีมอบรางวัลโล่พระอาทิตย์ทองคำ ประจำปี 2552 จะมีขึ้นในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน นี้ เวลา 9.00-11.00 น. ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ บี ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ปาณิสรา ปาลาศ (โบว์)
บริษัท เพอร์เฟ็ค คอนเน็คชั่น จำกัด
โทร 02 694 6500 ต่อ 108
อีเมลล์ panisara@perfectconnection.co.th