กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
การจัดทำนโยบายที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเรื่องสวัสดิการ ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้เลย หากนโยบายดังกล่าวมิได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ในการจัดทำ “ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ใช้กระบวนการที่เรียกว่า “ประชาเสวนา” (Citizen Dialogue) เป็นเครื่องมือในการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายส่วนรวมที่จะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม
หลักการสำคัญของกระบวนการจัดทำประชาเสวนาคือ การระดมความคิดเห็นจากประชาชนในลักษณะสภาที่ปรึกษา (Deliberative Poll) จุดเด่นประการแรกของกระบวนการประชาเสวนาคือ การได้มาของกลุ่มตัวแทนประชาชนที่ประกอบขึ้นเป็นสภาที่ปรึกษานั้นมีความสำคัญมาก โดยที่มาของตัวแทนประชาชนในการจัดทำประชาเสวนาเรื่อง “ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย” สถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC Poll) ดำเนินการสุ่มตัวอย่างเลือกประชาชนประมาณจังหวัดละ 50 คนในเขตพื้นที่ทำการศึกษา 7 จังหวัด โดยตัวแทนประชาชนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ แต่เป็นประชาชนคนธรรมดาที่ถูกสุ่มเลือก กระจายจำนวนคนตาม เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ ให้มีสัดส่วนสอดคล้องกับโครงสร้างประชากร เพื่อให้ผู้ได้รับการคัดเลือกด้วยการสุ่มตัวอย่างเหล่านี้สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทยให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด
หลักการสำคัญข้อที่สองของกระบวนการประชาเสวนาในขั้นต่อมาคือ ก่อนที่จะเริ่มมีการเสวนาแสดงความคิดเห็น ต้องมีการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่เอนเอียง (bias) แก่ประชาชน สถาบันฯ ได้ให้ข้อมูลก่อนการเสวนาแก่ตัวแทนประชาชนสองส่วน ส่วนแรกเป็นสถานการณ์เกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ ที่คนไทยได้รับอยู่ในปัจจุบัน และส่วนที่สองเป็นตัวอย่างทางเลือกสวัสดิการสังคม 3 รูปแบบที่ประเทศต่างๆ ใช้ดำเนินการจัดสวัสดิการให้ประชาชนอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ (1) ระบบสวัสดิการแบบรัฐจัดสวัสดิการให้ประชาชนแบบถ้วนหน้า (2) ระบบสวัสดิการที่รัฐจัดสวัสดิการให้เฉพาะคนจนและผู้ด้อยโอกาส และ (3) ระบบสวัสดิการตามกลุ่มอาชีพ นอกจากจะให้รายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดสวัสดิการที่แตกต่างกันทั้ง 3 รูปแบบแล้ว ยังมีการแจกแจงข้อดี-ข้อด้อยของแต่ละรูปแบบสวัสดิการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการเสวนาอีกด้วย
ทั้งนี้ในช่วงก่อนเริ่มให้ข้อมูลสถานการณ์สวัสดิการที่คนไทยได้รับในปัจจุบันและทางเลือกสวัสดิการที่จะเสวนากันต่อไป ตัวแทนประชาชนทุกคนจะต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับประเด็นที่จะมีการเสวนากันต่อไป การตอบแบบสอบถามในช่วงก่อนการเสวนานี้ เพื่อเก็บข้อมูลความคิดเห็นที่เป็นพื้นฐานความคิดดั้งเดิมของตัวแทนประชาชน และในตอนท้ายหลังผ่านกระบวนการประชาเสวนา ตัวแทนประชาชนจะต้องทำแบบสอบถามเดิมอีกครั้ง โดยนักวิจัยจะนำความคิดเห็นก่อน-หลังมาเทียบกันเพื่อให้เห็นความแตกต่างของทัศนะต่อระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้น โดยคำถามมีสองข้อเพื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวแทนประชาชนว่า ในสวัสดิการ 6 ประเภทได้แก่ สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการสำหรับแรงงาน สวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน สวัสดิการรักษาพยาบาล สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ และสวัสดิการเพื่อผู้ด้อยโอกาสนั้น คำถามแรกคือ ตัวแทนประชาชนต้องการให้มีการจัดสวัสดิการแต่ละประเภทให้แก่ประชาชนทุกคนหรือให้เฉพาะคนจน คำถามที่สอง ให้ตัวแทนประชาชนเรียงลำดับความสำคัญของสวัสดิการทั้ง 6 ประเภทดังกล่าว
การเสนอทางเลือกสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทยในการประชาเสวนานี้ยังใช้สวัสดิการ 6 ประเภทดังกล่าวยังเป็นหัวข้อหลักในการเสวนา โดยมีการแบ่งตัวแทนประชาชนให้เข้าเสวนาในกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 12-13 คน ในแต่ละกลุ่มจะมีผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ซึ่งสถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรกระบวนการ ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคี เช่น บางกอกฟอรั่ม ซึ่งวิทยากรเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดเทคนิคในการอำนวยการจาก ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ให้ทำหน้าที่ดูแลให้ประชาชนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและเท่าเทียมกันในประเด็นว่า อยากเห็นการจัดสวัสดิการแต่ละประเภทเป็นอย่างไร ใครควรจะเป็นผู้จัดสวัสดิการให้ประชาชน และที่มาของงบประมาณในการจัดสวัสดิการมาจากไหน ผลที่ได้จากการเสวนาในแต่ละประเภทสวัสดิการสามารถสรุปได้ดังนี้
1.สวัสดิการด้านการศึกษา ให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายให้ประชาชนทุกคน โดยรัฐนำงบประมาณมาสนับสนุนทั้งค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียนต่างๆ และให้องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ส่วนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในกลุ่มตัวแทนประชาชนคือ บางส่วนเห็นว่าควรจะเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย โดยรัฐอุดหนุนค่าเล่าเรียนให้กับทุกคน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นสูงอย่างเท่าเทียมกัน แต่ตัวแทนประชาชนอีกส่วนเห็นว่า รัฐควรให้ทุนการศึกษาครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้เฉพาะนักเรียนยากจนหรือเรียนดี เพราะหากให้กับทุกคนจะเป็นภาระงบประมาณที่สูงเกินไป ควรให้โอกาสกับคนยากจนและคนที่เรียนเก่งมากกว่าให้ทุกคน สำหรับงบประมาณสนับสนุนการจัดสวัสดิการด้านการศึกษานั้น ประชาชนยินดีจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งภาษีทางตรงและทางอ้อม และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบงบประมาณเพิ่มเติม
2.สวัสดิการด้านแรงงาน ให้รัฐช่วยในการพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอาชีพ และหางานให้กับคนจบใหม่ คนตกงาน และควรจัดให้ทุกคน เพราะเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าสวัสดิการดังกล่าวในปัจจุบันรัฐจะจัดให้อยู่แล้ว แต่ปัญหาของการจัดฝึกอบรมวิชาชีพของหน่วยราชการมักไม่ดูบริบทของคนในพื้นที่ เช่น จัดฝึกอบรมในวันราชการ ซึ่งประชาชนต้องทำงาน หรือบางพื้นที่เป็นเกษตรกร แต่ฝึกอาชีพทางอุตสาหกรรม เป็นต้น ตัวแทนประชาชนจึงเสนอว่าต้องการให้สวัสดิการด้านแรงงานจัดการโดยท้องถิ่น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่น ส่วนแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร ผู้มีอาชีพค้าขาย อาชีพอิสระ กลุ่มอาชีพเหล่านี้ควรมีการรวมกลุ่มกันและเข้าสู่ในระบบ เพื่อให้ได้สวัสดิการด้านแรงงานเหมือนพวกที่อยู่ในระบบ สำหรับงบประมาณที่ใช้ควรมาจากภาษีส่วนหนึ่งและควรมีรวมกลุ่มกันสมทบเงินแบบกลุ่มออมทรัพย์ตามกลุ่มอาชีพอีกส่วนหนึ่ง
3.สวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน เน้นการช่วยเหลือผู้ว่างงาน โดยให้เงินชดเชยเป็นเงินกึ่งหนึ่งของรายได้ระหว่างที่มีการว่างงานเป็นเวลา 3-6 เดือน ทั้งนี้ต้องมีการนิยาม “ผู้ว่างงาน” ที่เข้าข่ายได้รับสวัสดิการให้ชัดเจน และรัฐต้องออกกฎหมายให้รัดกุม มิให้นายจ้างอาศัยช่องว่างของกฎหมายแรงงาน ใช้การจ้างงานระยะสั้นหรือชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง นอกจากความช่วยเหลือที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น การหางานให้ผู้ว่างงาน โดยรัฐและหน่วยงานในท้องถิ่นต้องจ้างคนว่างงานในพื้นที่ให้เข้ามาทำงาน การพัฒนาแรงงานด้วยการฝึกอบรมอาชีพ รวมถึงจัดให้มีกองทุนให้กู้ยืมสำหรับแรงงานที่ว่างงานและต้องการประกอบอาชีพส่วนตัวหรืออาชีพเสริม จะได้มีโอกาสทำงานช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น สำหรับงบประมาณที่ใช้ให้นำมาจากเงินออมของกลุ่มแรงงานที่เก็บสบทบกันไว้ขณะมีงานทำ และเงินสมทบจากชุมชนหรือท้องถิ่นซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ
4. สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ ให้รัฐจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนให้ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่ไม่มีบำนาญและจ่ายให้เฉพาะคนยากจน เพื่อจะได้มีประหยัดงบประมาณและสามารถจ่ายเบี้ยยังชีพได้มากกว่าเดือนละ 500 บาท นอกจากนี้ รัฐควรส่งเสริมให้มีการออมส่วนบุคคลในวัยทำงาน แต่ละคนจะได้รับผิดชอบตนเองในยามชรา รวมถึงส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มคนสูงอายุทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ตนมีอยู่ จัดหางานเบาๆ ที่เหมาะสมกับวัย เพื่อส่งเสริมรายได้ให้ผู้สูงอายุที่ยังทำงานไหว ส่งเสริมความรักในครอบครัวเพื่อให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ส่วนงบประมาณมาจาก 3 ส่วนคือ (1) ภาษี (2) เงินออมของในวัยทำงานของผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการสมทบจากภาครัฐ และ (3) เงินออมในระดับชุมชน ผ่านกองทุนเพื่อสวัสดิการของชุมชน โดยมีการตรวจสอบกันเองภายในชุมชน
5.สวัสดิการรักษาพยาบาล ให้มีสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกคน โดยประชาชนยินดีที่จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อปรับปรุงโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งให้การบริการมีความเสมอภาคและเป็นมาตรฐานเดียวกัน การรักษาควรให้ครอบคลุมโรคจำเป็นทั่วไป ส่วนโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้ผู้ป่วยจ่ายส่วนหนึ่งและรัฐจ่ายสมทบ ปัจจุบันแพทย์และเจ้าหน้าที่บุคลากรไม่เพียงพอ ขาดแพทย์เฉพาะโรค อยากให้จัดหาแพทย์เพิ่มเติมในโรงพยาบาลจังหวัดและส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ให้มีการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลระดับตำบล รณรงค์ ส่งเสริมการรักษาของแพทย์แผนไทย จัดอบรมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีศูนย์สุขภาพชุมชน ส่งเสริมการออกกำลังกายและให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อเป็นการลดการใช้บริการของโรงพยาบาลในอำเภอเมือง สำหรับงบประมาณที่ใช้ควรมาจากการเพิ่มภาษีในสินค้าประเภทที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและกระทบต่อสังคม เช่น สถานเริงรมย์ สุรา บุหรี่ ประกอบกับงบประมาณจากชุมชนและท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนด้านรักษาพยาบาลกันเองอีกส่วนหนึ่ง
6.สวัสดิการเพื่อผู้ด้อยโอกาส ควรส่งเสริมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสทุกคนให้มีโอกาสการเข้าถึงการศึกษา และการฝึกอาชีพ โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณให้สวัสดิการเป็นเบี้ยยังชีพและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เช่น ป่วยด้วยโรคต่างๆ จนไม่สามารถทำงานและไม่มีรายได้ ทั้งนี้ ชุมชนต้องมีบทบาทช่วยกันดูแล เช่น ตั้งศูนย์สงเคราะห์คนพิการ เพื่อนำคนว่างงานในชุมชนมารับการฝึกอบรมช่วยดูแลคนพิการ ส่วนผู้ด้อยโอกาสกลุ่มที่ยังสามารถทำงานได้ ให้รัฐจัดฝึกอบรมและหาอาชีพที่เหมาะสมให้ รวมถึงออกกฎหมายบังคับให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการมากพอในสถานที่ต่างๆ ชัดเจน เช่น ต้องมีทางลาดขึ้น-ลงสำหรับรถเข็น เสียงในลิฟท์ ห้องน้ำให้คนพิการ ฯลฯ โดยประชาชนยินดีจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการจัดสวัสดิการเพื่อผู้ด้อยโอกาส รวมกับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กล่าวโดยสรุป ตัวแทนประชาชนเห็นว่าบางสวัสดิการพื้นฐาน เช่น การศึกษา การพัฒนาแรงงาน การรักษาพยาบาลควรจัดให้กับประชาชนทุกคน ส่วนสวัสดิการบางอย่าง เช่น ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ควรจัดให้เฉพาะกลุ่มคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เช่น คนยากจน คนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เป็นต้น สำหรับบทบาทในการจัดสวัสดิการก็มีทั้งบทบาทของรัฐบาลกลางในการวางนโยบาย บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะตัวแทนของรัฐที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และบทบาทของชุมชนที่จะดูแลจัดสวัสดิการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในท้องถิ่น ส่วนงบประมาณมีทั้งจากเงินภาษีที่ประชาชนยินดีจะจ่ายมากขึ้น ทั้งภาษีเงินได้ และภาษีที่เก็บจากสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะภาษีจากสินค้าประเภทที่ทำลายสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ โดยตัวแทนประชาชนยังเสนอมาตรการเสริมที่จะช่วยให้การจัดสวัสดิการมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ใช้งบประมาณน้อยลงอีกด้วย