ปตท.ปลูกสำนึก7Rให้เด็กไทย เพิ่มค่าขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน

ข่าวทั่วไป Friday November 20, 2009 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ปตท. ขยะ..ของเหลือทิ้งไร้ค่าที่ใครต่อใครพากันเมินหน้าหนี และถูกทิ้งขว้างกลายก่อปัญหาขยะล้นเมือง แต่วันนี้ โลกเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ขยะที่เคยไร้ค่า กลับมีราคาขึ้นมาเมื่อนำมาบริหารจัดการอย่างถูกวิธี หรือนำไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” ที่วันนี้มีนวัตกรรมสามารถเปลี่ยนพลาสติกให้เป็น “น้ำมัน” มูลค่าสูงได้ ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันได้??? คำถามนี้ถูกเฉลยให้น้องๆ นักเรียนมัธยมปลายของ 7 โรงเรียนในจังหวัดระยองกว่า 1,200 คน ได้รับรู้ พร้อมไปกับเรื่องราวในโลกปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และกระบวนการ 7R รักษ์โลก ที่มาร่วมกิจกรรม “นิทรรศการสัญจร : จากปิโตรเลียมสู่ปิโตรเคมี” ซึ่งกลุ่ม ปตท. จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา ผ่านการเรียนรู้ใน 4 สถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยมีคณาจารย์และพี่ๆ ปริญญาโทและปริญญาตรีจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ และทีมงานจากศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาเป็นวิทยากรให้ความรู้อย่างใกล้ชิด “น้องนัท” นายกฤษฎา เชื้อรักษ์ นักเรียนชั้นม.6/1 โรงเรียนระยองวิทยาคม นิคมอุตสาหกรรม เล่าถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า รู้สึกสนุกมาก มีกิจกรรมให้ทดลองทำ มีอุปกรณ์สำหรับการทดลองครบถ้วน ได้ความรู้เกี่ยวกับปิโตรเลียม ปิโตรเคมีแบบครบวงจร ทั้งยังแนะนำถึงประเภทพลาสติก และวิธีขจัดขยะพลาสติกที่ถูกต้อง อย่างกระบวนการ 7R การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ นวัตกรรมการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีของการกำจัดขยะและได้น้ำมันกลับมาใช้แทน "เมื่อก่อนจะรู้แค่หลัก 3R ที่ประกอบด้วย Reduce Reuse และ Recycle แต่เมื่อได้ร่วมกิจกรรมทำให้ได้รู้หลักเพิ่มขึ้นอีก 4 วิธี ได้แก่ Repair Reject Return และ Rethink ซึ่งสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และทำให้เริ่มกลับมามองสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น ที่สำคัญผมเองก็เพิ่งรู้ว่า จ.ระยองเป็นหนึ่งในสามจังหวัดแรกของประเทศ ที่เริ่มใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน แต่เรากลับผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับสามรองจาก จ.สมุทรปราการ และภูเก็ต เนื่องจากระยองเรายังมีระบบการจัดการขยะที่ไม่ดีพอ ผมจึงตั้งใจที่จะนำความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในวันนี้ ไปใช้กับที่โรงเรียน ที่บ้านและในชุมชน ให้เกิดการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น" มาฟังความคิดเห็นของ “น้องโก้” นายเกียรติก้อง เชียวขุนทด นักเรียนชั้นม.6/2 โรงเรียนระยองวิทยาคม ปากน้ำ กันบ้าง ที่ได้พูดถึงกิจกรรมนิทรรศการสัญจรครั้งนี้ว่า ช่วยให้เข้าใจถึงการกระบวนการเกิดปิโตรเลียม แหล่งกักเก็บ และการนำมาใช้ประโยชหน์ แหล่งพลังงาน พลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต การเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ รู้จักหน้าที่และบทบาทอาชีพวิศวกรเคมีในอุตสาหกรรม “รู้สึกสนุกและได้รับความรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยได้ทดลองวิธีการเปลี่ยนรูปพอลิเมอร์เส้นตรงให้เป็นพอลิเมอร์แบบเชื่อมขวาง ด้วยจากการเติมแต่งสารเคมีเข้าไปปรับปรุงคุณสมบัติและโครงสร้างทางเคมี และยังได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของวิศวกรเคมีในโรงงานมากขึ้น ว่าเป็นอาชีพที่ต้องนำความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เคมีมาต่อยอด สร้างเป็นเครื่องมือ ออกแบบวางแผนกระบวนการผลิตต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เพียงพอต่อความต้องการ ที่สำคัญที่สุด ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า สิ่งรอบๆ ตัวเรา สิ่งใกล้ตัวเรา ไม่ว่าจะถ้วย ชาม แก้วน้ำพลาสติก ล้วนมีประโยชน์และโทษ แต่หากเรารู้จักวิธีการจัดการ และนำความรู้นั้นมาปฏิบัติจริง ปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้ เช่นเดียวกับขยะที่มีอยู่ล้นโลก ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันคัดแยกก็จะสามารถแปรรูปเป็นพลังงานนำกลับไปใช้ได้ใหม่ ทำให้เรารู้จักคุณค่าของทรัพยากรมากขึ้นด้วย” กิจกรรมนิทรรศการสัญจร : จากปิโตรเลียม...สู่ปิโตรเคมีนี้ กลุ่ม ปตท. จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่ ปี 2549 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะกับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดระยองที่จะก้าวไปเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ นำความรู้ไปสู่การพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และภาคอุตสาหกรรม นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการสื่อความ กลุ่ม ปตท. กล่าวถึงความสำคัญของเยาวชนกับอนาคตของจังหวัดระยองว่า “โลกเราทุกวันนี้การร่วมช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมนับเป็นสิ่งสำคัญ กิจกรรมนิทรรศการสัญจรปีนี้ จึงมุ่งเน้นเพิ่มเติมความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการช่วยกันจัดการคัดแยกขยะในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรม กระตุ้นให้เกิดความตระหนักรักถิ่นฐานและนำความรู้ที่ได้รับมาใช้พัฒนารักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างรู้เท่าทัน พร้อมเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นทั้งคนเก่งและคนดีที่จะนำความรู้มาดูแลจังหวัดระยองร่วมกันในอนาคต และหวังว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ จะเกิดความรู้ความเข้าใจในลักษณะของอุตสาหกรรมในท้องถิ่นของตนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผู้ที่ได้รับโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา สามารถใช้ความรู้ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีกลับมาพัฒนาจังหวัดระยองบ้านเกิดของตนเองต่อไป ” และเพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในเชิงลึก ให้กับน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมและเปิดโอกาสสานฝันเยาวชนที่สนใจการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสายวิศวกรรมเคมี กลุ่ม ปตท.จะคัดเลือกผู้แทนนักเรียนที่ร่วมนิทรรศการสัญจร จำนวน 56 คน จาก7โรงเรียนไปเข้าค่าย “ปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตร” 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคมนี้ ณ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จ.ระยอง ก่อนเฟ้นหาเยาวชนคนเก่งรับโควต้าเข้าเรียนต่อพร้อมทุนการศึกษาจากกลุ่มปตท. ตลอด 4 ปีในภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีต่อไป เช่นเดียวกับเยาวชนคนเก่ง 4 คนที่ได้รับโอกาสดีๆ เช่นนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว การจัดการขยะด้วยหลัก 7Rs กระบวนการ 7R เป็นการต่อยอดหลักการจัดการขยะแบบ 4R ซึ่งเสนอวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการจัดการขยะทั้งในระดับครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม โดยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การสร้างจิตสำนึก ประกอบด้วย 1. Reduce* (ลดการใช้) เป็นการลดใช้ทรัพยากรให้เหลือเท่าที่จำเป็นหรือนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ลดการบริโภคเพื่อให้เกิดขยะหรือของเสียน้อยลง 2. Reuse* (ใช้ซ้ำ) เป็นการนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถใช้ซ้ำได้มาใช้ก่อนนำไป Recycle 3. Recycle* (นำกลับมาใช้ใหม่) เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพแล้วหรือที่ใช้แล้วมาแปรสภาพด้วยกระบวนการต่างๆ ทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิด 4. Repair* (ซ่อมแซม) เป็นการซ่อมแซมเพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ 5. Reject (ปฏิเสธ) ปฏิเสธการใช้ทรัพยากรแบบครั้งเดียวทิ้ง หรืออาหารนำเข้าจากแดนไกล 6. Return (ตอบแทน) เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวคืนแก่โลก 7. Rethink (คิดใหม่) เปลี่ยนความคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้องเหมาะสม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ คุณวารุณี บุญสงค์ (จิ๊บซี่) โทร.02-2701350-4 กด 116

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ