ธนาคารกรุงเทพ จัดสัมมนาใหญ่ SMEs ‘อยู่กับโลกาภิวัตน์’ โดย 4 ผู้ประกอบการมือดี

ข่าวทั่วไป Friday December 8, 2006 09:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพ จัดการสัมมนาใหญ่เอสเอ็มอี ประจำปี 2549 หัวข้อเรื่อง ‘อยู่กับโลกาภิวัตน์’ เสนอประสบการณ์จาก 4 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลากประเภทธุรกิจ รองนายกรัฐมนตรี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘บทบาทรัฐและเอกชนในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ’ เช้าวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2549 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพ
นายพันธ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ รองผู้จัดการอาวุโส พัฒนาธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครั้งใหญ่ประจำปีที่ธนาคารกรุงเทพได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จะเป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา และหลังจากปาฐกถาพิเศษโดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์แล้ว จะเป็นรายการเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง ‘อยู่กับโลกาภิวัฒน์’ นำเสนอประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย นายสกลเกียรติ อุ่นแก้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท Sab Plastmach จำกัด นายเชษฐา อุดมวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท FXA จำกัด นายไทฟ้า ชยวรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัดดี้ กรุ๊ป จำกัด นายไชยยศ เสรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขอนแก่นแหอวน จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย นายพันธ์ศักดิ์ ลีลาวรรณกุลศิริ รองผู้จัดการอาวุโส พัฒนาธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
ประวัติโดยย่อของผู้เข้าร่วมการเสวนา มีดังนี้ นายสกลเกียรติ อุ่นแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท Sab Plastmach โรงงานขนาดเล็กผลิตเครื่องจักรเป่าขวดพลาสติกของคนไทยรายแรก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปี และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความละเอียด แม่นยำ สนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่ใช้พลาสติก ปัจจุบัน บริษัท Sab Plastmach ถือเป็นโรงงานระดับเอสเอ็มอีส่งออกเครื่องจักรไปจำหน่ายในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง เป็นตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ และเทคโนโลยีการออกแบบเครื่องจักรเป่าขวดพลาสติก ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพ
นายเชษฐา อุดมวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท FXA กิจการด้านบริการที่ใช้ความรู้ทางด้านซอฟท์แวร์ เพื่อเชื่อมโยงการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศ ให้เข้ากับเงื่อนไขของผู้ซื้อ คือ มาตรฐานสุขอนามัยที่เข้มงวด บังคับให้มีการตรวจสอบย้อนกลับ สินค้าอาหารในทุกระดับของซัพพลายเชน ตั้งแต่ระดับโรงงานแปรรูป การขนส่ง เกษตรกรผู้ผลิต ผู้เพาะพันธุ์ จนถึงการผลิต เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ซื้อว่า อาหารที่ส่งออกนั้นมีความปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ นายเชษฐาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท FXA ซึ่งได้เล็งเห็นโอกาสในธุรกิจซอฟท์แวร์ด้านนี้ พัฒนาซอฟท์แวร์ที่สามารถทำการตรวจสอบย้อนกลับให้กับอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภททั้งในและต่างประเทศ
นายไทฟ้า ชยวรประภา แห่งบริษัทบัดดี้ กรุ๊ป เป็นธุรกิจบริการที่ขายความเป็นประเทศไทย นายไทฟ้าเริ่มธุรกิจจากเกสต์เฮาส์เล็กๆ ที่ถนนข้าวสาร นำเสนอบริการที่นักท่องเที่ยวพอใจ กระทั่งสามารถขยายกิจการไปสู่การทำธุรกิจโรงแรมให้บริการอย่างครบวงจร อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และท่องเที่ยว จนกลายเป็นผู้มีส่วนแบ่งในตลาดห้องพักสูงสุดบนถนนข้าวสาร ประสบการณ์ในธุรกิจของเขาจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
นายไชยยศ เสรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทขอนแก่นแหอวน ทำอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศจีนมากกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้ทำการปรับตัวในหลายด้านจนสามารถเป็นเจ้าตลาดแหอวนพลาสติกในตลาดโลก แนวทางการปรับตัวดังกล่าวของบริษัทที่ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่นจึงเป็นประสบการณ์ที่นักธุรกิจน่าศึกษาเรียนรู้
ผู้สนใจสามารถการสัมมนาครั้งนี้ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 0-2626-3629 - 30

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ