ปภ. เผยอุบัติภัยในเด็กป้องกันได้

ข่าวทั่วไป Tuesday March 21, 2006 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ปภ.
ในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุประมาณ 3,300 ราย หรือเฉลี่ย 288 รายต่อเดือน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม ถือเป็นช่วง 3 เดือนอันตรายของเด็ก
สถิติ เมื่อปี 2544 พบว่า มีการบาดเจ็บในเด็ก 16,186 ราย เสียชีวิตถึง 456 ราย โดย ร้อยละ 68 ของการบาดเจ็บ เป็นเด็กผู้ชาย โดยมีสาเหตุหลักมาจาก การขนส่งร้อยละ 39 การพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 28 ส่วนการเสียชีวิต พบว่า ร้อยละ 56 เกิดจากอุบัติเหตุขนส่ง รองลงมา ร้อยละ 22 เกิดจากการจมน้ำ ซึ่งการจมน้ำ ไม่ได้หมายความว่า เกิดจากการเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเพียงอย่างเดียว หากเด็กจมน้ำนานเกินกว่า 5 นาที จะทำให้เกิดภาวะสมองตาย ส่วนมากเด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 3 ปี จะจมน้ำในถังน้ำ บ่อน้ำ ที่อยู่ในบริเวณบ้าน ซึ่งเด็กในวัยนี้ป้องกันอันตรายด้วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด หากเผลอเรอแม้เพียงนิดเดียว อาจทำให้เกิดเหตุน่าเศร้าดังที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เช่น พ่อแม่ หันไปรับโทรศัพท์ หรือคุยกับเพื่อน พอหันมาเห็นลูกที่กำลังเดินเตาะแตะก้าวตกแม่น้ำและไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน ในขณะที่ เด็กโตจะจมน้ำในแหล่งน้ำของชุมชน เนื่องจากเป็นเด็กที่โตแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงไม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ทันคิดว่าสิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยง ปล่อยให้ลูกเล่นตามลำพังโดยคิดว่าดูและตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม อุบัติภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ถ้าทุกคนใส่ใจ เรื่องความปลอดภัยและจัดสิ่งแวดล้อม เพื่อเด็ก โดยเริ่มจาก
ความปลอดภัยในบ้าน ต้องหมั่นตรวจสอบบำรุงรักษา และซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของบ้านให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง จัดวางอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ของเล่น วัสดุต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ในตำแหน่งที่เหมาะสม บริเวณปลั๊กไฟ ต้องดูแลมิให้เกิดอันตรายกับเด็กเล็ก, อุปกรณ์ไฟฟ้า ของมีคม สารเคมีที่ใช้ทำความสะอาด หรือสารพิษที่ใช้ฆ่าแมลง ควรเก็บให้มิดชิด พ้นมือเด็ก, พื้นห้องต้องดูแลให้สะอาด ไม่มีวัสดุ กีดขวาง โดยเฉพาะในพื้นห้องน้ำ ควรเป็นวัสดุกันลื่น หมั่นทำความสะอาดอย่าให้เกิดความสกปรก เพราะอาจทำให้ลื่นล้มได้ บริเวณสนามหญ้า ต้องหมั่นดูแลไม่ปล่อยให้หญ้าขึ้นรก ไม่ให้มีเศษแก้ว ของมีคม ตะปู กรณีมีบ่อน้ำ หรือสระว่ายน้ำ หรือคูน้ำในบริเวณบ้าน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมิให้เด็กเล่นใกล้บริเวณนั้น
หากมีเด็กเล็กอยู่ในบ้าน ควรทำที่กั้นบันใดที่แข็งแรง ,อาวุธปืนควรเก็บไว้ในที่มิดชิด ที่เด็กไม่อาจหยิบไปเล่นได้, ไม่ส่งเสริมให้เด็กเล่นของเล่นที่ทำเป็นอาวุธ เช่น ดาบปลอม ปืนปลอม ระเบิดมือปลอม ประทัดหรือดอกไม้ไฟ ควรจัดซื้อของเล่นให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ปลอดภัยและได้มาตรฐาน, กรณีที่บ้านมีผู้ดูแลเด็ก ควรกำชับในเรื่องการปฏิบัติตัวกรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน เช่น หากเกิดเพลิงไหม้ ให้รีบนำเด็กออกจากบ้านทันที อย่าเสียเวลากับการเก็บข้าวของ และไม่ควรเปิดประตูให้คนแปลกหน้าเข้ามาในบ้าน ดูแลเด็กให้อยู่ในสายตาอยู่เสมอ
ความปลอดภัยในชุมชน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในเด็ก นอกเหนือจากที่บ้านแล้ว ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการจราจร ดังนั้น ความปลอดภัยในการเดินทาง มีข้อควรระวัง คือ ในการเดินถนน ควรเดินบนทางเท้า หากไม่มีทางเท้าให้เดินด้านที่มองเห็นรถสวนมา โดยให้เด็กเดินชิดด้านในเสมอ การข้ามถนนต้องใช้สะพานลอยหรือทางม้าลาย พ่อแม่และผู้ปกครองควรปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กอย่างสม่ำเสมอ, ในการเดินทางด้วยรถยนต์ เด็กเล็กควรจัดหาเบาะนั่งสำหรับเด็กโดยเฉพาะ และคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ ห้ามนำเด็กนั่งตักขณะขับรถยนต์เด็ดขาด, การขี่จักรยาน ไม่ควรอนุญาตให้เด็กขี่จักรยานในที่ซึ่งมีการจราจรคับคั่ง, การขับขี่จักรยานยนต์ ถ้าจำเป็นต้องให้เด็กโดยสารไปด้วย ต้องสวมใส่หมวกนิรภัยให้ทุกครั้ง และไม่นำเด็กซ้อนรถจักรยานยนต์พร้อมกันหลาย ๆ คน เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย, สถานที่เด็กเข้าไปใช้บริการ เช่น สวนสนุก เครื่องเล่นในห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร ผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรการในการดูและความปลอดภัย และมีผู้ดูแลเครื่องเล่นตลอดการให้บริการ สำหรับอุบัติเหตุจากการจมน้ำ ควรฝึกทักษะให้เด็ก เช่น การว่ายน้ำ การเดินทางทางน้ำ การใช้เสื้อชูชีพ รวมถึงการพยาบาลและการช่วยเหลือคนจมน้ำ
อย่างไรก็ตาม การป้องกันในแต่ละความเสี่ยงแต่ละวัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องช่วยกันดูแล อีกทั้งชุมชนและองค์กรต่าง ๆ ต้องร่วมมือร่วมใจ เพิ่มความเอาใจใส่ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ช่วยกันดูแลชุมชนให้อยู่ในสภาพที่มีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะได้ไม่ต้องมาถามกันว่า “ใครผิด ?”
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย www.disaster.go.th สายด่วน 1784
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร./โทรสาร.0-2243-0674 e-mail : publicdpm@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ