กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้สมาชิกกรีนพีซ อาสาสมัคร และเกษตรกรในจังหวัดราชบุรีกว่าร้อยคนร่วมเกี่ยวข้าวพันธุ์ก่ำพะเยา หรือข้าวที่ให้สีดำในภาพศิลปะบนนาข้าวอินทรีย์ของกรีนพีซ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องข้าวไทยอันเป็นสมบัติของชาติให้ปลอดจากการดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอและสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อยับยั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ศิลปะบนนาข้าวอินทรีย์ของกรีนพีซสะท้อนให้เห็นถึงข้อดีของการทำเกษตรเชิงนิเวศที่ผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาดั้งเดิมของการทำนาไทยที่ช่วยปกป้องผืนดินและแหล่งน้ำจากการปนเปื้อนสารเคมี ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และผลิตอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับทุกคน” ดร.โอภาส ปัญญา ประธานกรรมการ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวในพิธีเปิดกิจกรรมเกี่ยวข้าวขวัญ มหัศจรรย์ข้าวไทยในวันนี้
“ข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก และเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกข้าวไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องปกป้องข้าวของเราจากจีเอ็มโอ และเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการสนับสนุนการทำเกษตรเชิงนิเวศ” ดร.โอภาส กล่าวเสริม
คุณณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าจังหวัดราชบุรี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน “เกี่ยวข้าวขวัญ มหัศจรรย์ข้าวไทย” และกล่าวสนับสนุนการรณรงค์ของกรีนพีซที่มุ่งหมายปกป้องข้าวไทยให้ปลอดจีเอ็มโอและสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรรมไทย
อาสาสมัครกรีนพีซ และชาวนาในจังหวัดราชบุรีได้สร้างสรรค์ “ศิลปะบนนาข้าวอินทรีย์” เพื่อสะท้อนถึงความภูมิใจในข้าวไทย และวิถีแห่งการเพาะปลูกข้าวที่สืบทอดกันมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความสำคัญของข้าวอันเป็นอาหารหลักที่ประชากรทั่วโลกพึ่งพา ศิลปะบนนาข้าวอินทรีย์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 10 ไร่ แสดงภาพชาวนาสวมงอบกำลังเกี่ยวข้าว สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวนาไทย ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ภาพศิลปะดังกล่าวเกิดจากการปลูกข้าว 2 สายพันธุ์ นั่นคือ พันธุ์ชัยนาท 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้าชนิดไม่ไวแสง ลำต้นและกาบใบมีลักษณะสีเขียว และพันธุ์ก่ำพะเยา ซึ่งให้สีดำ ทั้งนี้กรีนพีซได้เริ่มเกี่ยวข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากถึงกำหนดการเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์ดังกล่าวแล้ว
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิเสธพืชดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เนื่องจากจีเอ็มโอไม่เคยได้รับการพิสูจน์ใดๆว่าปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์ ซ้ำยังทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกร และก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
ในปี 2547 กรีนพีซเปิดโปงกรมวิชาการเกษตร ว่าเป็นสาเหตุทำให้มะละกอไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอ โดยมีการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน จ.ขอนแก่น จนก่อให้เกิดการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอไปยังแปลงเกษตรใกล้เคียง และปล่อยให้มีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์มะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับเกษตรกรไทยในหลายจังหวัด การเปิดโปงดังกล่าวทำให้นักกิจกรรมของกรีนพีซตกเป็นจำเลยเพราะถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุก ลักขโมยและทำลายทรัพย์สิน โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าวในปี 2549 หลังจากนั้นกรมวิชาการเกษตรก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยการพิพากษาคดีจะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น
“เราหวังว่ารัฐบาลไทยจะพิจารณาข้อเรียกร้องของกรีนพีซในการปฏิเสธพืชและอาหารดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของพวกเรา นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรคำนึงถึงการปกป้องอนาคตภาคเกษตรของประเทศ โดยผลักดันและสนับสนุนเกษตรกรรมแบบยั่งยืนโดยมีนโยบายที่เป็นรูปธรรม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแพร่หลายไปพร้อมกับการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเกษตร และปฏิเสธเทคโนโลยีจีเอ็มโอในทุกวิถีทาง” นายวอน เฮอร์นันเดซ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
สัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซได้เปิดเผยรายงาน “การปรับปรุงพันธุ์อย่างชาญฉลาด: โมเลกุลเครื่องหมาย (MAS) เทคโนโลยีชีวภาพทางเลือกใหม่ ทดแทนการดัดแปลงพันธุกรรมพืช” (1) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการผสมพันธุ์ข้าวที่ดีและปลอดภัยกว่าการดัดแปลงพันธุกรรม และเริ่มถูกนำมาใช้โดยชาวนาในบางประเทศแล้ว
กรีนพีซ ทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ
หมายเหตุ
(1) รายงาน “การปรับปรุงพันธุ์อย่างชาญฉลาด: โมเลกุลเครื่องหมาย (MAS) เทคโนโลยีชีวภาพทางเลือกใหม่ ทดแทนการดัดแปลงพันธุกรรมพืช” อ่านได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/en/press/reports/MAS-report
(2) อ่านเรื่องราวของศิลปะบนนาข้าวอินทรีย์ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/gmos/rice-art
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร.02 357 1921 ต่อ 115