กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--มูลนิธิยุวพัฒน์
มูลนิธิยุวพัฒน์ ร่วมกับคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาศิลปากร กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จัดพิธีมอบรางวัลและพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะเด็ก “เริ่มที่ใจ เมืองไทยน่าอยู่” สะท้อนความคิดของเด็กไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า เริ่มตั้งแต่วันนี้ — 28 พฤศจิกายน นี้
ดร.จุไรพร จินตกานนท์ คล้ายจำแลง ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์ เผยว่า “การประกวดศิลปกรรมยุวพัฒน์ในปีนี้มีความพิเศษกว่า 15 ปีที่ผ่านมา โดยมูลนิธิฯ ได้กำหนดหัวข้อในการประกวดว่า “คนไทยเท่านั้น ที่ทำให้เมืองไทยน่าอยู่” เพื่อเชิญชวนเด็กๆ ร่วมกันคิดว่า “เราจะเปลี่ยนประเทศไทยของเราได้อย่างไร” เพราะต้องการที่จะให้คนไทยทั้งประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับความสุขที่เราเคยมีจาก “วิถีชีวิต” ที่เรามีร่วมกัน นั่นคือ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสงบ และรู้จักให้อภัย และที่สำคัญที่สุดคือการที่ทุกคนได้ตระหนักว่าเรา “คนไทย” ทุกคนมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จากการละเลยสังคมและชาติไทยของเรา โดยทั้งหมดนี้เพื่อให้ “คนไทย” ได้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขเหมือนที่เคยเป็นมาค่ะ”
การประกวดในครั้งนี้ มีผลงานส่งเข้าประกวดมากกว่า 2,000 ภาพ จาก 282 โรงเรียน 67 จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ, คุณสุนันทา ตุลยธัญ WPP Country Chairman กลุ่มบริษัท WPP Thailand, อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพร รอดบุญ อดีตอาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาจารย์สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร และอาจารย์วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ และกรรมการตัดสิน กล่าวถึงผลงานที่ส่งเข้าประกวดศิลปกรรมยุวพัฒน์ในปีนี้ว่า “งานที่เด็กๆ ส่งมานั้น แสดงให้เห็นว่า การที่เราทุกคนในสังคม จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น เป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ความรัก การมีน้ำใจ และการเพลิดเพลินไปกับความหลากหลาย โดยไม่คำนึงถึงการแบ่งแยก มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผมจึงขอแสดงความชื่นชมกับเด็กๆ ทุกคนที่ตั้งใจแสดงความคิดเห็น และทางออกในการเปลี่ยนประเทศของเรา ให้กลับไปร่มเย็นน่าอยู่ ตามวิถีไทยของการมีน้ำใจ ให้อภัย และรักสงบ และขอแสดงความยินดีกับเด็กๆ ทุกคน ที่สร้างสรรค์ผลงานได้โดดเด่น จนได้รับรางวัลต่างๆ ในวันนี้ครับ”
ด.ญ.พฤติพร ยิ่งถาวร อายุ 13 ปี จากโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลชมเชย จากผลงานชื่อ “คนไทยสามัคคีสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ประเทศไทย” เผยว่า “ตอนที่วาดภาพนี้ มีแรงบันดาลใจเพราะอยากให้คนไทยสามัคคีกัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกกัน เพื่อจะได้ทำให้ประเทศชาติเจริญยิ่งขึ้นค่ะ”
ด้าน นายธนกร สืบอ่ำ อายุ 17 ปี จากโรงเรียนเขาย้อยวิทยา จังหวัดเพชรบุรี ได้รับรางวัลดีเด่น จากผลงานชื่อ “เมืองไทย เมืองยิ้มพิมพ์ใจ ไทยน่าอยู่” เล่าว่า “ผมวาดภาพนี้ เพราะมองว่าการที่จะทำให้เมืองไทยน่าอยู่นั้น ทุกอย่างเกิดจากการมีน้ำใจ รอยยิ้ม ความสามัคคี และความโอบอ้อมอารี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยนะครับ ยิ้มสยามจะทำให้เมืองไทยน่าอยู่ได้ครับ”
นางสาวทิพย์ชยา พงศธร ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการศิลปะเด็ก “เริ่มที่ใจ เมืองไทยน่าอยู่” กล่าวถึงผลงานที่เข้าร่วมแสดงว่า “สำหรับภาพผลงานที่ได้รับรางวัลจะถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า โดยมีภาพผลงานทั้งสิ้น 212 ภาพ ซึ่งผลงานของน้องๆ ที่ส่งเข้าประกวดนั้น เป็นภาพที่สะท้อนว่า การที่เราทุกคนในสังคม จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้นั้น เป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ความรัก การมีน้ำใจ และการเพลิดเพลินไปกับความหลากหลาย โดยไม่คำนึงถึงการแบ่งแยก ซึ่งเป็นการเตือนสติผู้ใหญ่ว่า วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ วิธีที่เรียบง่ายที่สุด เพียงแค่ทุกคนมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นี่เป็นมุมมองที่สะท้อนจากภาพวาดของน้องๆ ที่เรารู้สึกได้ค่ะ”
นิทรรศการศิลปะเด็ก “เริ่มที่ใจ...เมืองไทยน่าอยู่” จัดแสดงเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมยุวพัฒน์ จำนวน 48 ภาพ และผลงานที่ได้รับรางวัลเกียรติบัตรและภาพร่วมแสดง จำนวน 164 ภาพ ซึ่งภัณฑารักษ์ ได้นำภาพมาร้อยเรียงเรื่องราวให้ทุกคนได้สัมผัส และเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเราและสังคม เพื่อสร้างปรากฏการณ์ให้เมืองไทยกลับมาน่าอยู่ดังที่เป็นมา โดยจัดแสดงผลงานตั้งแต่วันนี้ — 28 พฤศจิกายน นี้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ — อาทิตย์ เวลา 09.00 — 16.00 น. สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิยุวพัฒน์ โทรศัพท์ 0 2301 1096
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : มูลนิธิยุวพัฒน์ โทรศัพท์ 0 2301 1096