โครงการนำร่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรกล CNC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ข่าวเทคโนโลยี Friday September 1, 2006 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ไทยไดนามิค มาสเตอร์
เมื่อวานนี้ (31 สค.49) ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง “โครงการนำร่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรกล CNC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในโครงการฯ ณ บริษัท ไทยไดนามิค มาสเตอร์ จำกัด อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
สืบเนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ไทยไดนามิค มาสเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมเครื่องจักรกลไทย ดำเนินงานจัดฝึกอบรม โครงการนำร่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรกล CNC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 25 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างและซ่อมแซมเครื่องจักรกล CNC ด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรกลเก่าที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านการสร้างและซ่อมเครื่อง- จักรกล CNC และลดปริมาณการนำเข้าเครื่องจักรใหม่จากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากขยะเครื่องจักรที่ใช้การไม่ได้อีกด้วย ซึ่งผลจากการดำเนินงานโครงการฯ จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
การฝึกอบรมเป็นการอบรมระยะยาว ใช้เวลาฝึกอบรม 60 วัน (360 ชั่วโมง) ประกอบด้วยการเรียนภาคทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติจริง (on the job training) เนื้อหาของหลักสูตรมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงาน การควบคุม และฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรกล CNC การฝึกอบรมครั้งนี้ สามารถผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรกล CNC ให้กลับมาใช้งานได้ จำนวน 5 ทีม รวมทั้งสิ้น 25 คน โดยเน้นการทำงานร่วม กันเป็นทีม บุคลากรเหล่านี้สามารถไปถ่ายทอดความรู้เพื่อขยายผลต่อไปได้ และบุคลากรดังกล่าวฯ สามารถซ่อมแซมเครื่องจักรกล CNC เก่าที่นำมาฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้อีก ตลอดจนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จำนวน 5 เครื่อง (ทีมละ 1 เครื่อง) ได้แก่ 1. บริษัท บางนา สเตนเลส จำกัด : เครื่องกลึง MAZAK 2. บริษัท เดลแคม (ประเทศไทย) จำกัด : เครื่องกัด (มิลลิ่ง) KOTOBUKI 3. บริษัท แมซินเนอรี่เอ็มโปเรียม (1995) จำกัด : เครื่องกัด (มิลลิ่ง) SHIZUOKA 4. บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด : เครื่องกลึง TSUGAMI 5. บริษัท ไทยไดนามิค มาสเตอร์ จำกัด : เครื่องกลึง MAKINO ซึ่งเป็นการประหยัดเงินตราในการซื้อเครื่องจักรกล CNC จากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าได้ประมาณ 2,000,000 — 3,000,000 บาทต่อเครื่อง ทั้งนี้ ในการฟื้นฟูเครื่องจักรของแต่ละเครื่องต้องลงทุนงบประมาณ 500,000 — 700,000 บาทต่อเครื่อง ในขณะที่ถ้าต้องการนำเข้าเครื่องจักรเหล่านี้เข้ามาใหม่ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000,000 — 4,000,000 บาท
ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยอีกว่าโครงการนี้มีสาระ สำคัญ 2 ประการ ได้แก่
1. เราพบว่ามีเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง CNC เครื่องต้นแบบอยู่ประมาณ 80,000 เครื่อง ที่เป็นของเก่าเก็บและไม่สามารถจะรื้อฟื้นได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ใช้ความพยายามที่จะเชื่อมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมเครื่องจักรกลไทย และสถาบันไทย-เยอรมัน ที่จะนำเอามากลับฟื้นชีวิต เพราะเราดูแล้วว่าเครื่องราคา 5 ล้านบ้าง 10 ล้านบ้าง ถ้าเราใส่เงินลงไปสัก 7-8 แสนบาท เครื่องพวกนี้สามารถกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ แล้วก็มาทดลองทำโครงการนำร่องขึ้น
2. เวลานี้ต้องมีคนที่ลงไปดำเนินการในเรื่องนี้ ปรากฏว่าเราทดลองในโครงการนำร่องนี้ จัดมา 5 ทีม พัฒนาเครื่อง 5 เครื่อง ลงในสนามจริง ใช้เวลา 2 เดือนเศษ สามารถที่จะปรับเครื่องเหล่านี้กลับคืนมาได้ ฉะนั้นเรามีทั้งองค์ความรู้ มีทั้งหลักสูตรที่จะดำเนินการ มีครูที่จะสอน มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ประมาณอีก 40,000 เครื่อง ที่รออยู่ที่จะสามารถช่วยลดการนำเข้าได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท
วันนี้เป็นการมาสรุปผลโครงการนำร่องฯ เราสามารถที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ต่อไปเราจะเชื่อมกับทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาในการหาทางขยายทีมทำงาน โดยความร่วมมือกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย สถาบันไทย-เยอรมัน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะพยายามขยายทีมลงไปซ่อมเครื่อง จักรเหล่านี้ให้ได้ 1 ปี 100 ทีม เพื่อที่เราจะขยายผลออกไปดูแลเครื่องอีก 40,000 เครื่อง
ดร.ประวิช รัตนเพียร เปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 6 กันยายน นี้ จะมีการสัมมนาใหญ่ระหว่างผู้ที่มีเครื่องจักรเก่าอยู่กับคนที่พร้อมจะไปช่วยรื้อฟื้นชุบชีวิต (Retrofit) ที่ไบเทค คิดว่าจะมีบริษัทส่งคนมาร่วมถึง 500 บริษัท ซึ่งจะเป็นเครื่องที่เราจะไปช่วยรื้อฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ได้
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัทไทยไดนามิค มาสเตอร์ จำกัด โทร. 0-2758-1495-9 และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-2942-8555 ต่อ 1820

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ