ตรวจเชื้อเอดส์ฟรีที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ตั้งแต่บัดนี้ถึง 1 ธ.ค. 52

ข่าวทั่วไป Monday November 23, 2009 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. จัดกิจกรรม “Hand up เตือนเพื่อนคิดบวก” รวมใจต้านภัยเอดส์ในพื้นที่ เปิดให้บริการตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์ (HIV) ฟรีในศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ตั้งแต่บัดนี้ถึง 1 ธ.ค. 52 กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ป้องกันแก้ปัญหาเอดส์ มุ่งส่งเสริม สนับสนุน การป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรคเอดส์ และมีพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว การจัดกิจกรรมรณรงค์รวมใจต้านภัยเอดส์เนื่องในวันเอดส์โลก ประจำปี 2552 ภายใต้แนวคิด “Hand up เตือนเพื่อนคิดบวก” โดยมี นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนางมนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลก กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมรณรงค์รวมใจต้านภัยเอดส์เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธ.ค. 52 ตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ด้วยการจัดกิจกรรม Road Show ในสถานศึกษา สร้างแกนนำด้านเอดส์ในโรงเรียน นำร่องในโรงเรียนสังกัด กทม. 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ โรงเรียนวัดลาดกระบัง โรงเรียนวัดชัยมงคล โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ และโรงเรียนเศวตฉัตร และกำหนดจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์รวมใจต้านภัยเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและหน่วยงานในสังกัด อาทิ ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 76 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัด 9 แห่ง สำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียนในสังกัด 435 แห่ง ชุมชนต่างๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยจัดเตรียมเอกสาร แผ่นพับ โปสเตอร์ สื่อประชาสัมพันธ์ และถุงยางอนามัย สนับสนุนการรณรงค์ให้แก่หน่วยงาน ชุมชน และประชาชน พร้อมทั้งให้บริการเจาะเลือดตรวจหาการติดเชื้อ HIV ฟรีที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ (23 พ.ย.) ถึงวันที่ 1 ธ.ค. 52 เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสาร สถานการณ์โรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แก่ประชาชน ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงการป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดจนมีพฤติกรรมทางเพศที่ถูกต้อง ปลอดภัย นอกจากนี้ในวันที่ 1 ธ.ค. 52 เวลา 08.00—15.00 น. ได้กำหนดจัดเสวนาด้านเอดส์ในกลุ่มเยาวชน จำนวน 500 คน ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ป้องกันแก้ไขเอดส์ พญ.มาลินี กล่าวว่า โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่คุกคามและส่งผลกระทบอย่างสูงต่อสุขภาพประชาชนทั่วโลก รวมทั้งความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ และสังคมด้วย ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการป้องกัน และหยุดยั้งการติดเชื้อ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ทุก 5 ปี เพื่อให้การดำเนินงานมีความสอดคล้อง ต่อเนื่อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเป็นต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แบบบูรณาการและยั่งยืน เน้นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรด้านเอดส์ ชุมชน และกลุ่มผู้ติดเชื้อจากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง สำหรับแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ฉบับปัจจุบันกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการเพื่อบูรณาการงานเอดส์สู่ภาคส่วนต่างๆ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มเป้าหมาย อาทิ เด็กและเยาวชน ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้ให้หรือพนักงานบริการทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติด สามี—ภรรยา แรงงานในสถานประกอบการ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การติดตามประเมินผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ที่สำคัญหากเกิดการผสมกันของเชื้อ HIV 3 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในทวีปแอฟริกา ได้แก่ เอจี—ดี (AG/D) และ เออี—จี (AE/G) และกลายพันธุ์เป็นโรคเอดส์สายพันธุ์ใหม่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและแพร่ระบาดรวดเร็ว คาดสิ้นปี 52 ยอดผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 2,500 ราย จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยเอดส์ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2527 ถึงเดือน ต.ค. 2552 พบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วย 357,407 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 261,614 ราย สำหรับในกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยเอดส์สะสม 40,243 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 31,123 ราย คิดเป็นอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 2.7 : 1 พบมากที่สุดในวัยแรงงานอายุ 30 — 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 23.44 รองลงมาอายุ 25 — 29 ปี คิดเป็นร้อยละ 19.38 อาชีพที่พบมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 40.12 รองลงมาเป็นผู้ว่างงาน ร้อยละ 13.20 และแม่บ้าน ร้อยละ 8.27 ปัจจัยเสี่ยงสูงสุดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 79.32 รองลงมาเป็นการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ร้อยละ 10.35 พบสัดส่วนเล็กน้อยจากการติดเชื้อจากมารดาและการรับเลือด กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดอายุ 30 — 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.32 และพบเด็กอายุ 0—4 ปี ป่วยเป็นโรคเอดส์ 1,060 ราย เสียชีวิตแล้ว 275 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.02 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งตั้งแต่เดือน ม.ค. — ต.ค. 52 ในกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,264 ราย โดยยอดผู้ป่วยสะสมที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริงมากเนื่องจากได้รับความร่วมมือจากสถานพยาบาลในกทม. เพียง 79% อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 52 จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,476 ราย และมียอดผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์สะสมที่ยังมีชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ จนถึงสิ้นปีประมาณ 57,906 ราย คำขวัญวันเอดส์โลกปีนี้ “ทั่วถึง เท่าเทียม คือสิทธิมนุษยชน” ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กำหนดให้วันที่ 1 ธ.ค. ของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ซึ่งเริ่มครั้งแรกในปี 32 โดยปีนี้โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดคำขวัญวันเอดส์โลกว่า “Universal Access and Human Rights” มีความหมายว่า “ทั่วถึง เท่าเทียม คือสิทธิมนุษยชน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ