กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กรีนพีซ
กรีนพีซเห็นด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องอดีตผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่กรีนพีซ ทั้งสองถูกกรมวิชาการเกษตรแจ้งความและดำเนินคดีอาญาหลังเปิดโปงกรมวิชาการเกษตรเป็นต้นเหตุทำมะละกอไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอและนับเป็นการปนเปื้อนจีเอ็มโอครั้งสำคัญของประเทศไทย
“ที่ผ่านมากรีนพีซเชื่อมั่นว่าการรณรงค์และการเรียกร้องให้ยุติพืชจีเอ็มโอเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสิทธิของประชาชนในการแสดงออกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ กรีนพีซซึ่งเป็นองค์กรทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมยังคงยืนยันในแนวทางที่จะทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต่อไป” น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ดร.จิรากรณ์ คชเสนี และน.ส.ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ อดีตผู้อำนวยการบริหารและเจ้าหน้าที่กรีนพีซ ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2547 กรีนพีซตรวจสอบพบว่าหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรเป็นต้นเหตุทำให้เกิดแพร่กระจายมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอในประเทศไทย และการทดลองมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตรขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอทุกชนิดในระดับไร่นา ซึ่งเป็นแปลงทดลองแบบเปิด โดยก่อนหน้านี้กรีนพีซได้เรียกร้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนเพื่อให้ยุติการทดลองในระดับไร่นาแต่ไม่เป็นผล นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้มีการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับประชาชนทั่วไปกว่า 2,000 รายใน 37 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่กรีนพีซจำเป็นต้องยุติการทำลายสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องคดีนี้ในปี พ.ศ.2549 พนักงานอัยการได้มีการยื่นอุทธรณ์ทำให้อดีตผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ของกรีนพีซต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาคดีอาญาร้ายแรงที่โทษสูงสุดถึงจำคุก 5 ปี จากข้อกล่าวหาบุกรุก ลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ในสถานที่ราชการ แต่อย่างไรก็ตามนักสิทธิมนุษยชน เครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคเห็นว่าความพยายามของกรมวิชาการเกษตรเพื่อยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้เป็นการไม่ยอมรับว่ากรมวิชาการเกษตรได้ทำผิดกฎหมายด้วยการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด อีกทั้งยังมีการจำหน่ายจ่ายแจกเป็นมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอก่อให้เกิดการแพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อมดังกล่าว
“ถึงแม้ว่าอดีตผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ของกรีนพีซจะพ้นจากข้อกล่าวหาบุกรุก ลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ในสถานที่ราชการ แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามะละกอไทยได้ถูกปนเปื้อนจีเอ็มโอ และกรมวิชาการเกษตรเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนดังกล่าว ประเทศไทยยังคงไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ แต่ในขณะเดียวกันก็พบกับแรงกดดันจากอุตสาหกรรมจีเอ็มโอที่พยายามเปิดทางให้พืชจีเอ็มโอเข้าสู่ประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันเกิดการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอ แต่กลับเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของจีเอ็มโอเสียเอง” น.ส.ณัฐวิภา กล่าวเสริม “การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอสร้างความวิตกทั้งด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศ และรัฐบาลควรทบทวนและให้กรมวิชาการเกษตรหันมาจัดการการปนเปื้อนจีเอ็มโอของมะละกอไทยและชดเชยค่าเสียหายให้กับเกษตรกรไทยผู้ที่รับผลกระทบจากการปนเปื้อนดังกล่าว”
กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ