กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแถลงว่า ตามที่รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนของภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) ซึ่งถือเป็นการระดมทุนในรูปแบบใหม่ที่มีผู้ให้ความสนใจค่อนข้างมาก โดยได้รับการยอมรับว่าช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐ และทำให้สามารถขยายการลงทุนในโครงการพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในสาขาต่างๆ ได้แก่ โครงการระบบเดินรถไฟฟ้า (MRT) โครงการขนส่งระบบราง และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เป็นต้น สบน. จึงได้จัดทำร่างคู่มือแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs ขึ้น (PPP Guidelines) เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวทางที่ชัดเจนที่สามารถนำไปใช้ประกอบการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535) และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยร่างคู่มือแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs มีเนื้อหาประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ บทนำ วัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs - เพื่อทำความเข้าใจแนวความคิดเรื่อง PPPs และแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบ PPPs
- เพื่อรวบรวมขั้นตอนการดำเนินการให้เอกชนร่วมทุน (PPPs) ตามกฎหมายและระเบียบประกาศที่มีผลบังคับ ใช้อยู่ในปัจจุบัน
- เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการให้เอกชนร่วมงานตามขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญ
ส่วนที่ 1 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs- พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง หัวข้อในการเสนอผล การศึกษาและวิเคราะห์โครงการ
- กฎกระทรวง (พ.ศ. 2537) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545) ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
- ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดคุณสมบัติของที่ปรึกษาโครงการที่จะให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ
ส่วนที่ 2 ลักษณะโดยทั่วไปของการดำเนินงานโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs ประกอบด้วย
- ความหมายในการดำเนินงานโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs ได้แก่ คำอธิบายลักษณะโดยทั่วไปของโครงการ PPPs
- ประโยชน์ของการดำเนินงานโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs อาจพิจารณาได้จากการเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน
- บทบาทหน้าที่ของภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินโครงการรูปแบบ PPPs ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไป ตามรูปแบบการดำเนินงาน และเงื่อนไขการให้บริการ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
- รูปแบบการดำเนินโครงการรูปแบบ PPPs (PPP options) ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ โดยจะ สอดคล้องกับรูปแบบสัญญาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการให้บริการโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนที่ 3 การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ/ การจัดเตรียมแผนธุรกิจ/ การประเมิน Value for Money (VfM)
3.1 การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นการศึกษาดังนี้
- ระบุบริการหรือผลลัพธ์ของโครงการที่ต้องการได้รับ
- กลั่นกรองประเด็นเชิงเทคนิคของโครงการ ข้อเสนอด้านเทคนิคของโครงการ ได้แก่ ทางเลือกของทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการ ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม และข้อกำหนดด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับโครงการ
- วิเคราะห์ทางเลือกในการดำเนินโครงการเบื้องต้น ได้แก่ กำหนดทางเลือกในการดำเนินโครงการ ประเมินทางเลือกในการดำเนินการ ประมาณเงินทุนที่ต้องใช้ระบุและจัดสรรความเสี่ยงเบื้องต้น วิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน พิจารณาแผนจัดการสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการความสัมพันธ์ชุมชน ประเด็นเกี่ยวกับบุคลากร ประเมินผลกระทบโครงการต่อสาธารณะ ประเมินความสนใจของเอกชนในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ
3.2 การจัดทำแผนธุรกิจโครงการและการประเมินความคุ้มค่าทางการเงินในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (Value for Money: VfM) มีรายละเอียดและขั้นตอนดังนี้
- จัดทำแผนดำเนินโครงการ ควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ขั้นตอนการสื่อสาร ตารางการทำงาน
- พัฒนาผลลัพธ์ของโครงการ คือ การกำหนดผลลัพธ์ของโครงการหรือบริการที่คาดว่าจะได้รับ
- พัฒนารายละเอียดโครงการ มีการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่างโครงการตามการดำเนินงานของภาครัฐในรูปแบบดั้งเดิมกับโครงการลงทุนรูปแบบ PPPs
- การวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดทำแบบแผนการจัดสรรความเสี่ยง (Risk Allocation Matrix) โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้ ระบุความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยง และจัดสรรความเสี่ยง
- จัดทำ Market Sounding เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและเงื่อนไขการเข้าร่วมดำเนินการจากมุมมองของ ภาคเอกชน
- จัดทำการศึกษาและเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตดำเนินงานที่อาจมีผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม การออกแบบ วัฒนธรรม ฯลฯ
- ประเมินความคุ้มค่าทางการเงินของโครงการในการให้เอกชนเข้าร่วมงาน โดยมีตัวแบบจำลอง VfM (Value for Money) เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์โครงการ เพื่อเปรียบเทียบการลงทุนในกรณีที่ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินงานเอง (PSC) กับกรณีที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPPs)
- รวบรวมเอกสารที่จัดทำศึกษาวิเคราะห์เพื่อจัดเตรียมเป็นทางเลือกรูปแบบธุรกิจ (Business Case)
- การนำเสนอผลการศึกษาโครงการ
ส่วนที่ 4 กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงาน ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ของกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงาน กำหนดขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงาน โดยได้จัดทำตัวอย่างของเอกสารที่ใช้ในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงาน เช่น เอกสารขอบเขตรายละเอียดโครงการ (TORs) และเอกสารเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมงาน (Request for Proposal) รวมทั้งข้อกำหนดมาตรฐานของสัญญาให้เอกชนเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 มีแนวทางการดำเนินงานและเอกสารประกอบการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น โดยจะช่วยลดระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารในแต่ละขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงาน โดยขั้นตอนในส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 มีระยะเวลาการดำเนินการโดยประมาณ 12 — 13 เดือน โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการมีหน้าที่จัดเตรียมการดำเนินการ โดยมี PPP Unit (PPP Task Force) ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดตั้งขึ้นโดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทำหน้าที่ในการประสานงานและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อผลักดันให้การดำเนินโครงการ PPPs ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ 5 การบริหารจัดการสัญญา ประกอบด้วยกรอบการบริหารจัดการสัญญา PPPs การบริหารจัดการสัญญา การควบคุมผลการดำเนินงาน การบริหารความสัมพันธ์ การดำเนินงานและหน้าที่ในการบริหารจัดการสัญญาในแต่ละช่วงเวลาของสัญญา ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารสัญญา PPPs ของหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535
ภาคผนวก ประกอบด้วยตัวอย่างเปรียบเทียบลักษณะของโครงการดำเนินงาน PPPs ในแต่ละรูปแบบ ตัวอย่างผลลัพธ์ของโครงการในรายสาขา ตัวอย่างแบบแผนการจัดสรรความเสี่ยง (Risk Matrix) หลักการพิจารณาความคุ้มค่าทางการเงินโดยใช้ตัวแบบจำลอง VfM และโครงสร้างของตัวแบบจำลอง VfM (VfM Financial Model)
ทั้งนี้ สบน. ได้นำร่างคู่มือดังกล่าวลงในเว็บไซต์ของ สบน. (www.pdmo.mof.go.th) เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 45 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะไปพิจารณาปรับปรุงร่างคู่มือฯ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อเป็นแนวทางในการชี้แจงนักลงทุนในการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ของโครงการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่จะดำเนินการในรูปแบบ PPPs ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 0-2265-8050