กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 13/2552 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 มีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารศุกูกของไทย โดยอนุญาตให้ผู้ระดมทุน หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ที่ผู้ระดมทุนจัดตั้งขึ้น เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นทรัสตีเพื่อการออกตราสารศุกูก (asset trustee) โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการอนุญาต รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การออกและเสนอขาย ตราสารศุกูกในแนวทางเดียวกับการเสนอขายตราสารหนี้
ตราสารศุกูกถูกพัฒนาขึ้นตามหลักศาสนาอิสลามเพื่อใช้ในการระดมทุน เทียบเคียงได้กับการออกตราสารหนี้ (conventional bond) โดยมีความแตกต่างในเรื่องผลตอบแทนของตราสาร ซึ่งต้องไม่อยู่ในรูปของดอกเบี้ย แต่เป็นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและรับความเสี่ยงร่วมกัน การระดมทุนผ่านตราสารศุกูกนี้มีหลายรูปแบบ และรูปแบบที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ผู้ระดมทุนจะนำเงินจากการเสนอขายตราสารศุกูกไปซื้อหรือเช่าทรัพย์สินเพื่อปล่อยเช่าต่อ และจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือตราสารในรูปค่าเช่า หรืออีกรูปแบบหนึ่งคือการร่วมลงทุนระหว่างผู้ระดมทุนและผู้ถือตราสาร หรือผู้ถือตราสารด้วยกันเอง หรือการว่าจ้างบริหารจัดการเงินลงทุน และนำผลตอบแทนที่ได้ไปจ่ายให้กับผู้ถือตราสารในรูปส่วนแบ่งกำไร ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงการทำธุรกรรมต้องสอดคล้องกับหลักชาริอะฮ์
การมีตราสารศุกูกจะช่วยส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และช่วยขยายฐานผู้ลงทุนไปยังกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับกองทุนรวมอิสลามของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย
สำหรับหลักเกณฑ์การออกเสนอขาย และการเปิดเผยข้อมูลของตราสารศุกูกจะใช้แนวทางเดียวกับหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ทั่วไป และต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายให้การรับรองว่าโครงสร้างการทำธุรกรรมได้ผ่านการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลามแล้ว และโดยที่ตราสารศุกูกจะอยู่ในรูปของใบทรัสต์ (trust certificate: TC) ภายใต้พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ก.ล.ต. จึงจะออกประกาศเพื่ออนุญาตให้ผู้ระดมทุนหรือ SPV ที่ผู้ระดมทุนตั้งขึ้นสามารถเป็น asset trustee ได้โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตเป็น asset trustee นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะเสนอแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อเปิดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นสามารถประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายตราสารศุกูกได้
อนึ่ง คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้บรรจุมาตรการพัฒนาตราสารศุกูกเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสินทรัพย์อิสลามทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 3-4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า