กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการดำเนินโครงการเด็กไทยไร้พุง ปัจจุบันเด็กนักเรียนประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคม การบริโภคไม่เป็นไปตามหลักการโภชนาการ และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งผลการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครระหว่างปี 48-51 พบเด็กที่มีอัตราภาวะโภชนาการเกิน (อ้วนขึ้น) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.55, 10.12, 10.17 และ 10.43 ตามลำดับ กรุงเทพมหานครได้เห็นความสำคัญ ของการสร้างเสริมสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จึงได้กำหนดเป็น”ยุทธศาสตร์การสร้างเด็กไทยไร้พุง” โดยมีจุดประสงค์ให้นักเรียนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติตามวัยและมีสุขภาพดี ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วนของนักเรียน โดยกำหนดเป็น 4 มาตรการ ได้แก่ 1. การจัดทำระบบข้อมูลพัฒนาการทางกายของนักเรียน 2. ปรับปรุงการบริการด้านโภชนาการ 3. ส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 4. การสร้างแนวร่วมเป็นพลังสู่ความยั่งยืน
โครงการเด็กไทยไร้พุง เป็นการให้ความรู้ ทักษะและสร้างเจตคติที่ดี ในการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคให้กับนักเรียน ครู และผู้ปกครอง โดยมีแนวทางการดำเนินการประกอบด้วย จัดอบรมครูแกนนำผู้ดำเนินโครงการเด็กไทยไร้พุงของโรงเรียน เพื่อรับทราบการดำเนินงานการจัดกิจกรรมของโครงการ จัดอบรมให้กับครูโภชนาการของโรงเรียนและแม่ครัว ในการจัดทำรายการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการกับนักเรียน มีการจัดระบบงานครัวและอาหารในโรงเรียน โดยมีการกำกับดูแลและติดตาม จัดทำเอกสาร คู่มือ หนังสือ เพื่อเผยแพร่ความรู้และเป็นแนวทางการดำเนินโครงการให้กับโรงเรียน การสร้างเครือข่ายแนวร่วมโรงเรียนและผู้ปกครอง ร่วมกันรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เอื้อต่อการบริโภคอาหารระหว่างมื้อ การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกในการอยากอาหารของนักเรียน การประกวดจัดทำรายการอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การจัดประกวดการลดจำนวนนักเรียนที่มีน้ำหนักเกิน รวมทั้งการจัดระเบียบร้านค้า ไม่จำหน่ายอาหาร ขนมหวาน เครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายบริเวณรอบโรงเรียน