“สถาบันอาหาร” จี้รัฐหัวหอกเจาะตลาดอาหารอิหร่าน-ตะวันออกกลาง เดินหน้าผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2009 10:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สถาบันอาหาร ชี้ช่องทางขยายตลาดสินค้าอาหารในอิหร่าน ประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เร่งสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานสินค้าฮาลาล และระบบ Food Safety ของไทยให้เป็นที่ยอมรับ พร้อมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ ควบคู่การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารไทย การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการส่งเสริมภาคบริการ ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวอิหร่าน “สถาบันอาหาร” ระบุรัฐต้องเป็นผู้นำเจาะตลาด เร่งทำแผนขยายตลาดฮาลาล และบริการเป็นวาระแห่งชาติ ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า อิหร่าน เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง โดยมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ โดยสร้างรายได้ให้กับอิหร่านมากถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของอิหร่านยังเป็นประตูการค้าไปสู่กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ทำให้เกิดการไหลของสินค้าไปยังกลุ่มประชากรมุสลิมอย่างกว้างขวาง ประชากรของอิหร่าน เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการบริโภคอย่างมาก โดยยอมรับอาหารต่างชาติมากขึ้น เห็นได้จากงานแสดงสินค้า IRAN FOOD and Beverage Technology 2009 เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่นำมาแสดงในงานจะมีผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม หรือเป็นสินค้าแปรรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานที่หลากหลาย ทั้งเมนูอาหารท้องถิ่นและอาหารต่างชาติ โดยอิหร่านมีการเปลี่ยนแปลงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง ร้อยละ 30 โดยมีการเปิดกว้างมากขึ้น จากเดิมที่พึ่งพิงการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันนำเข้าจากประเทศในภูมิภาคอื่นๆ มีมากขึ้น เช่น การนำเข้าจากสหภาพยุโรป รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย รวมทั้งไทยด้วย การบริโภคอาหารโดยทั่วไปของชาวอิหร่าน จะเป็นไปตามข้อกำหนดของอาหารฮาลาล อาหารที่บริโภคส่วนใหญ่เป็นอาหารประจำท้องถิ่น โดยผู้ประกอบการของไทยที่ต้องการจะเจาะตลาดอิหร่าน ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับวัฒนธรรมการบริโภคของชาวอิหร่านให้มากที่สุด ทั้งรสชาติ และรูปแบบในการบริโภคมากกว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สินค้าที่มีแนวโน้มดีและเป็นที่ต้องการส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าอาหารที่มีการบริโภคเป็นประจำอยู่แล้ว ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเจ้า (ข้าวเจ้าและข้าวปรุงแต่ง พร้อมรับประทาน) ซึ่งปัจจุบันความต้องการบริโภคข้าวของอิหร่านอยู่ที่ 3.2 ล้านตันต่อปี แต่อิหร่านสามารถผลิตข้าวได้เพียง 2 ล้านตันต่อปี จึงต้องนำเข้าเพิ่มอีก 1.2 ล้านตัน ซึ่งไทยส่งออกข้าวไปยังอิหร่านได้ประมาณ 176,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิ 100% , Edible Oil เช่น น้ำมันปาล์ม, ผลไม้สดและแปรรูป (Exotic fruit มีแนวโน้มที่ดี) , อาหารกระป๋อง เนื้อไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง นม และผลิตภัณฑ์นม ดร.อมร กล่าวอีกว่า “อิหร่าน เป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจในการขยายตลาด แต่ที่ผ่านมาการส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ซึ่งนอกจากปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองของอิหร่าน และวัฒนธรรมที่แตกต่างแล้วนั้นปัญหาสำคัญอีกหลายประการ ได้แก่ มาตรฐานสินค้าฮาลาล และระบบ Food Safety ของไทย ยังไม่ได้รับการยอมรับจากอิหร่าน, กฎระเบียบการนำเข้าของอิหร่านมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา, Country Image ของประเทศไทย ยังไม่ได้รับการยอมรับจากอิหร่านเท่าที่ควร, ปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของธนาคาร การค้าในปัจจุบันจึงอาศัยการค้าเงินสดเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทย และการจัดการด้านระบบขนส่งของสด และระบบห้องเย็นในอิหร่านยังมีไม่เพียงพอสำหรับสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็ง และมีต้นทุนการขนส่งจากไทยค่อนข้างสูง” สำหรับสินค้าอาหารไทยที่มีศักยภาพและโอกาสในการส่งออกไปอิหร่าน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้าข้าว และอาหารกระป๋องที่สำคัญและมีแนวโน้มดี ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ข้าวเจ้าหอมมะลิ 100% กาแฟสำเร็จรูป ทูน่ากระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง มะขามแห้ง สตาร์ชจากมันสำปะหลัง มะขามสด และมะม่วงกระป๋อง สินค้าในกลุ่มนี้มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ส่วนสินค้าอาหารของไทยที่ยังไม่มีการส่งออก แต่มีศักยภาพและควรส่งเสริมให้มีการขยายตลาดในอนาคต ได้แก่ ผลไม้สด เช่น มังคุด และมะม่วง เนื่องจากชาวอิหร่านเริ่มนิยมผลไม้ที่เป็น Exotic Fruit มากขึ้น การเจาะตลาดอาหารในประเทศอิหร่านของไทยในช่วงที่ผ่านมา มีข้อจำกัดหลายประการ ทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายรายต้องประสบกับความล้มเหลวในการขยายตลาด และเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย และจีน ดังนั้น การขยายตลาดสินค้าอาหารในอิหร่าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ต้องเป็นผู้นำในการเจาะตลาด โดยควรจัดทำแผนการขยายตลาดสินค้าฮาลาลและบริการในประเทศอิหร่าน และประเทศตะวันออกกลางให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องดำเนินงานในลักษณะบูรณาการ ทั้งการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าฮาลาล และระบบ Food Safety การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตรงกับความต้องการของตลาด การจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจไทยและอิหร่าน และการส่งเสริมภาคการบริการอย่างจริงจัง ได้แก่ การท่องเที่ยว โรงพยาบาล และสปา เนื่องจากปัจจุบันชาวอิหร่านเริ่มนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 80,000 คนต่อปี จึงเป็นช่องทางสำคัญในการประชาสัมพันธ์อาหารไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นการขยายตลาดอาหารของไทยในอิหร่านได้อย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ