โรลส์-รอยซ์เพิ่มการลงทุนในสิงคโปร์เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 14:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน โรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านระบบพลังงานระดับโลก เปิดเผยแผนการก่อสร้างโรงงานใบพัดแบบใบกว้าง (wide chord fan blade) หรือโรงงาน WCFB ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ในบริเวณเซเลตาร์ แคมปัส (Seletar Campus) ของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นที่เดียวกับศูนย์ฟาซิลิตี้ ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์ (Facility of the Future) ศูนย์การทดสอบและประกอบเครื่องยนต์เทรนท์ ซึ่งโรลส์-รอยซ์ได้แถลงเปิดตัวโครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ โรลส์-รอยซ์จะทุ่มเงินลงทุนในเซเลตาร์ แคมปัส ซึ่งรวมถึงการลงทุนสร้างโรงงาน WCFB คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 700 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ (หรือราว 16.8 พันล้านบาท) เมื่อเซเลตาร์ แคมปัส เริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยให้เกิดการจ้างงานถึง 500 ตำแหน่ง และจะทำให้จำนวนพนักงานของโรลส์-รอยซ์ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็นราว 2,000 คน การก่อสร้างศูนย์ฟาซิลิตี้ ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์ และองค์ประกอบอื่นๆ ของแคมปัส อาทิ ศูนย์ฝึกอบรมประจำภูมิภาค จะเริ่มดำเนินการในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2553 โรงงาน WCFB จะเป็นโรงงานแรกของโรลส์-รอยซ์ที่ตั้งอยู่นอกสหราชอาณาจักร เพื่อทำการผลิตใบพัดใบกว้างแบบกลวง อันเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่มีส่วนในความสำเร็จของนวัตกรรมเครื่องยนต์ตระกูล เทรนท์ โรงงาน WCFB จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงงานบาร์โนลด์สวิค (Barnoldswick) ของกลุ่มบริษัทโรลส์-รอยซ์ในสหราชอาณาจักร ซึ่งก่อนหน้า โรลส์-รอยซ์ได้แถลงการลงทุนเพิ่มในโรงงานนี้เช่นเดียวกัน เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2551 ยอดการสั่งซื้อทั่วโลกของโรลส์-รอยซ์เพิ่มขึ้นเป็น 55.5 พันล้านปอนด์ โดยร้อยละ 44 มาจากลูกค้าในแถบเอเชียแปซิฟิค ความสำเร็จของโรลส์-รอยซ์ในตลาดระดับโลกทำให้โรลส์-รอยซ์ต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวและขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โรลส์-รอยซ์ตัดสินใจเลือกสิงคโปร์ให้เป็นที่ตั้งของศูนย์การปฏิบัติงานแห่งใหม่ เนื่องจากโรลส์-รอยซ์ได้พิจารณาปัจจัยทางกลยุทธ์สี่ประการ ได้แก่ ประโยชน์ในการมีศูนย์การปฏิบัติการหลักที่อยู่ใกล้กับลูกค้ารายสำคัญของโรลส์-รอยซ์, ประโยชน์ของมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนหลักอยู่สองแห่งเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ, สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีทักษะและกำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงพร้อมรับการแข่งขัน เห็นได้ชัดจากการที่โรลส์-รอยซ์ได้ร่วมมือกับบริษัท สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ เอ็นจิเนียริ่ง ในลักษณะบริษัทร่วมทุน, และปัจจัยท้ายสุดก็คือ การสนับสนุนจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board / EDB) และจูรง ทาวน์ คอร์ปอเรชั่น (Jurong Town Corporation / JTC) เซอร์ จอหน์ โรส ประธานบริหารของโรลส์-รอยซ์ กล่าวว่า “สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของการปฏิบัติงานของโรลส์-รอยซ์ และการลงทุนครั้งล่าสุดเพื่อขยายความสามารถในการผลิตใบพัดแบบกว้างสะท้อนให้เห็นว่าโรลส์-รอยซ์ยังคงเชื่อมั่นในสิงคโปร์ ว่าเป็นประเทศที่เหมาะกับการตั้งฐานการผลิตขั้นสูงแบบเพิ่มมูลค่า ผมมีความยินดีที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ให้การสนับสนุน และสานต่อความสัมพันธ์ที่มีมากับโรลส์-รอยซ์” นายเลียว ยิป ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ กล่าวว่า “เรายินดีที่โรลส์-รอยซ์เลือกสิงคโปร์เป็นที่ผลิตใบพัดแบบใบกว้าง โรงงานแห่งใหม่นี้และศูนย์การทดสอบและประกอบเครื่องยนต์เทรนท์ ณ เซเลตาร์ แอโรสเปซ พาร์ค นับเป็นการแสดงความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมต่อความสามารถของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตขั้นสูงและการพัฒนาธุรกิจของโรลส์-รอยซ์ แคมปัสของโรลส์-รอยซ์ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่เมืองเซเลตาร์ จะช่วยตอกย้ำบทบาทของเราในฐานะศูนย์กลางการบินแห่งสำคัญของโลก และยังช่วยสะท้อนความร่วมมืออันดีระหว่างโรลส์-รอยซ์และประเทศสิงคโปร์” หมายเหตุสื่อมวลชน 1. โรลส์-รอยซ์เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกในด้านระบบพลังงานแบบบูรณาการ เพื่อการใช้งานทั้งภาคพื้นดิน ท้องทะเล และทางอากาศ โรลส์-รอยซ์มีบทบาทสำคัญในภาคส่วนธุรกิจระดับโลกต่างๆ อันประกอบด้วยธุรกิจการบินพาณิชย์ การบินกลาโหม การเดินเรือ และธุรกิจด้านพลังงาน 2. โรลส์-รอยซ์มีพนักงานผู้เชี่ยวชาญราว 38,000 คนทั้งในสำนักงาน สถานที่ผลิต และสถานที่ให้บริการใน 50 ประเทศทั่วโลก โรลส์-รอยซ์ยึดมั่นในการว่าจ้างผู้ที่ไม่มีประสบการณ์และนักศึกษาจบใหม่ และการพัฒนาศักยภาพของพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 3. โรลส์-รอยซ์มีสำนักงานใหญ่สำหรับธุรกิจด้านต่างๆ อยู่ ณ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ การที่โรลส์-รอยซ์มีบทบาทสำคัญอยู่ทั่วโลกจึงทำให้บริษัทฯ สามารถมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่หุ้นส่วนทางธุรกิจ นอกเหนือจากโอกาสในการเติบโตระดับนานาชาติในระยะยาวด้วยเทคโนโลยี, ที่ตั้ง, ความร่วมมือ และบุคลากรจากโรลส์-รอยซ์ 4. ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่สำคัญของกลุ่มบริษัทโรลส์-รอยซ์ นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่หลายแห่งของโรลส์-รอยซ์ ทั้งสำนักงานใหญ่ด้านธุรกิจการเดินเรือและสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของธุรกิจพลังงานในเอเชีย นอกจากนั้น โรลส์-รอยซ์ยังมีศูนย์เทคโนโลยีขั้นสูงและสำนักงานฝ่ายจัดซื้ออยู่ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งรับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมถึงประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินเดีย และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5. ปัจจุบัน โรลส์-รอยซ์กำลังพัฒนาฟาซิลิตี้ ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์ (Facility of the Future) ศูนย์ทดสอบและประกอบเครื่องยนต์แอโรตระกูลเทรนท์ ณ เซเลตาร์ แคมปัส ซึ่งอยู่ในเซเลตาร์ แอโรสเปซ พารค์ โดยฟาซิลิตี้ ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์จะเป็นศูนย์การผลิตและประกอบเครื่องยนต์ ที่ทันสมัยที่สุดของโรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องยนต์อากาศยานพาณิชย์ขนาดใหญ่ และยังเป็นศูนย์แรกที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย 6. โรลส์-รอยซ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการเป็นหุ้นส่วนบริษัทร่วมทุนต่างๆ ในสิงคโปร์ อาทิ บริษัทสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (SIAEC) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสิงคโปร์ แอโร เอ็นจิน เซอร์วิสเซส จำกัด (SAESL) และบริษัท อินเตอร์เนชั่นนัล เอ็นจิน คอมโพเนนท์ส โอเวอร์ฮอล์ (IECO) ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้ให้บริการแก่สายการบินรายใหญ่ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก 7. คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) เป็นหน่วยงานสำคัญของรัฐบาลสิงคโปร์ที่รับผิดชอบด้านการวางแผนและดำเนินการทางกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อนำประเทศสิงคโปร์สู่การเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจระดับโลกและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้สนับสนุนเซเลตาร์ แคมปัส ของโรลส์-รอยซ์ ทั้งในด้านการอนุมัติการพัฒนาโครงการ การสนับสนุนด้านการฝึกอบรม และการประสานงานระหว่างโรลส์-รอยซ์กับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการเจรจาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดที่จะนำไปสู่การขบวนการตัดสินใจ 8. โรลส์-รอยซ์มีความสามารถอันโดดเด่นในการผลิตใบพัดใบกว้างแบบกลวง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตส่วนตัวใบพัดอากาศยานสำหรับเครื่องยนต์พาณิชย์และกลาโหม และเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติการของเครื่องยนต์ 9. ในปีพ.ศ. 2551 ยอดขายโรลส์-รอยซ์อยู่ที่ 9.1 พันล้านปอนด์ โดยร้อยละ 52 มาจากรายได้ด้านการให้บริการ บริษัทฯ แถลงยอดการสั่งซื้อ ณ ปลายปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าถึง 55.5 พันล้านปอนด์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต 10. กลุ่มบริษัทโรลส์-รอยซ์ได้ลงทุนถึง 1.4 พันล้านปอนด์ ในโครงการสำคัญมากมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังได้ลงทุนไป 3.7 พันล้านปอนด์ เพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในปี พ.ศ. 2551 โรลส์-รอยซ์และพันธมิตรได้ลงทุนถึง 885 ล้านปอนด์ ในด้านการวิจัยและพัฒนา โดยสองในสามของการลงทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของโรลส์-รอยซ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการลดการปล่อยมลภาวะ 11. โรลส์-รอยซ์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาในศูนย์ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ ณ สหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมนี สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และแถบสแกนดิเนเวีย นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทโรลส์-รอยซ์ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับโรลส์-รอยซ์ ยูนิเวอร์ซิตี้ เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ 27 แห่ง ทั่วโลก โรลส์-รอยซ์ฉลองครบรอบ 20 ปี ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2552 เป็นปีที่โรลส์-รอยซ์ฉลองครบรอบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลา 20 ปี โรลส์-รอยซ์เป็นบริษัทระดับโลกในด้านการให้บริการระบบพลังงานแบบบูรณาการ สำหรับการใช้บนภาคพื้นดิน ในทะเล และทางอากาศ ที่ดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โรลส์-รอยซ์มีบทบาทสำคัญในภาคการบินพาณิชย์ การบินกลาโหม การเดินเรือ และการพลังงานในประเทศ โรลส์-รอยซ์มีฐานลูกค้าอันกว้างขวาง ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานรัฐบาล สายการบินพาณิชย์ หน่วยงานสาธารณูปโภค ผู้ประกอบกิจการท่อส่ง และลูกค้าด้านพลังงานต่างๆ ปัจจุบันมีเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์กว่า 300 ลำ ที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย โรลส์-รอยซ์ปฏิบัติการในประเทศไทยโดยยึดมั่นปณิธานเพื่อการสนับสนุนประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านการลงทุน เทคโนโลยีนวัตกรรม และการศึกษา โรลส์-รอยซ์ได้สนับสนุนเงินลงทุนเพื่อสร้างฐานทดสอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนสายการบินไทย ขึ้นที่สนามบินดอนเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2539 นอกจากนั้น โรลส์-รอยซ์ยังคงดำเนินการเพื่อสนับสนุนสังคมไทยผ่านทางโครงการเพื่อสังคมต่างๆ อีกด้วย โรลส์-รอยซ์มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและหวังว่าจะรักษาความสัมพันธ์อันดีเช่นนี้ต่อไปข้างหน้า รูปและสื่อประกอบ สำหรับข้อมูลภาพถ่าย สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.rolls-royce.com/media/gallery/default.jsp สำหรับข้อมูลในรูปแบบไฟล์วิดิทัศน์ สามารถรับชมได้จาก www.thenewsmarket.com/rollsroyce ทั้งนี้ ผู้ใช้งานครั้งแรก กรุณาลงทะเบียน และหากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อ journalisthelp@thenewsmarket.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: สรัณศรี ประวัติพัฒนากูล ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทยโทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 208โทรสาร: 0-2627-3545 Email: sprawatpattanakul@th.hillandknowlton.com เซอร์ จอหน์ โรส ประธานบริหารของโรลส์-รอยซ์ ศูนย์ฟาซิลิตี้ ออฟ เดอะ ฟิวเจอร์ (Facility of the Future)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ