ผู้ส่งออกเตรียมพร้อมใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรจากสาธารณรัฐเกาหลี

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2009 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า เพื่อขอยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากร ขาเข้าของสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ความตกลงอาเซียนเกาหลีได้ ในจำนวนนี้ มีสินค้าประมาณ 9,000 รายการ ที่ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ครอบคลุมสินค้าทั้งสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าหัตถกรรม สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้านอกจากนี้ประมาณ 900 รายการ เป็นสินค้าที่ได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าเหลือ 5 - 8 % ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 100 รายการ เป็นสินค้าที่ยังไม่ได้นำมาลดภาษีนำเข้า เนื่องจากเป็นสินค้าอ่อนไหวสูง ซึ่งได้แก่ สินค้าเกษตรขั้นปฐมภูมิ เช่น ข้าว กล้วย เนื้อสุกร เนื้อปลา เป็นต้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยต่อไปว่า ในการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ผู้ส่งออกต้องยื่นขอตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดสินค้าต่อกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งยื่นคำขอได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ( Form AK) เพื่อนำไปแสดงต่อศุลกากรของประเทศปลายทาง ซึ่งผู้ส่งออกสามารถขอรับ Form AK ได้ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ในส่วนของประเทศไทยจะช่วยส่งเสริมการค้าการส่งออกระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีให้มีปริมาณสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน กฎถิ่นกำเนิดสินค้าจากความ ตกลงจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตไทยสามารถสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า โดยใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และสาธารณรัฐเกาหลีมาผลิตร่วมกับวัตถุดิบในประเทศไทย ทำให้สินค้าไทยผ่านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ส่งออกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงช่วยเพิ่ม ช่องทางการส่งออกด้วยการค้าแบบบริษัทตัวกลาง (Trading Company) โดยอาศัยกฎเกณฑ์ว่าด้วยการส่งออกโดยใช้ Form AK แบบ Back to Back CO และการใช้ Invoice ของประเทศที่ 3 (Third Party Invoicing) ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1385 กรมการค้าต่างประเทศ หรือ http://www.dft.go.th รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 02 547 4771-86 ต่อ 4759 โทรสาร 02 547 4816 หรือ e — mail : tpdft@mocnet.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ