สัมมนาทีดีอาร์ไอครั้งที่ 23 แนะวิธีปฎิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม

ข่าวทั่วไป Wednesday November 25, 2009 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาวิชาการเสนอผลงานวิจัยประจำปี 2552 ระดมความคิดเห็นนักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองไทย ร่วมหาแนวทางปฎิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม แนะลดความขัดแย้งทางการเมือง เพื่ออนาคตประเทศไทยในระยะยาว (วันนี้) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2552 “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม” (Economic Reforms for Social Justice) ” โดยได้รับเกียรติจาก นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเปิดการสัมมนา นายโฆษิต กล่าวว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ในรูปของมูลนิธิ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ทีดีอาร์ไอดำเนินการวิจัยเชิงนโยบายในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานระหว่างประเทศ ตลอดจนริเริ่มการวิจัยเอง เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มีคุณภาพและเป็นธรรม ทุกปีทีดีอาร์ไอได้ดำเนินการจัดการสัมมนาวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์มาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยจะเลือกหัวข้อของการสัมมนาที่มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในช่วงนั้น และการสัมมนาวิชาการครั้งที่ 23 ในปีนี้ได้เลือกหัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม” ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ ผลการวิจัยปีนี้น่าจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่การกำหนดอนาคตของประเทศในระยะยาวได้ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาน่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงมาก และนโยบายบางอย่างของรัฐเปิดช่องให้มีการแสวงหาผลกำไรส่วนเกินในรูปแบบต่างๆ ทั้งการผูกขาด และการแสวงหาประโยชน์จากโครงการของรัฐ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่มีโอกาสมากที่จะคงอยู่ต่อไป การปฏิรูปการเมืองที่เน้นเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการเลือกตั้ง และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยลำพังจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ตราบใดที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข มูลนิธิชัยพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงร่วมจัดการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ขึ้นเพื่อเปิดเวทีทางวิชาการเพื่อแสวงหาแนวทางในการปฎิรูปเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และลดความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งนี้ในการสัมมนามีการนำเสนอผลงานวิจัยบางส่วนจาก โครงการวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม” ซึ่งมี 4 เรื่องหลัก คือ 1. ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย 2. มาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม 3. ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย 4. การสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคม สาระสำคัญที่นำเสนอ ได้แก่ 1) ผลตอบแทนส่วนเกินในเศรษฐกิจไทย มีบทความ 5 เรื่องคือ การผูกขาด อำนาจเหนือตลาดของบริษัทค้าหลักทรัพย์ การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร สัมปทาน และการใช้อิทธิพลเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและป่า 2) มาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม มีบทความ 2 บทความคือ การวิเคราะห์ภาระภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม และการขยายฐานภาษี ใครได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาครัฐ 3) ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย 4) ทัศนะของประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ในช่วงท้ายของการสัมมนาเป็นการอภิปรายในหัวข้อ “เราจะปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมกันอย่างไร” ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จะสรุปสาระสำคัญของบทความและการสัมมนา จากนั้นจะป็นการภิปราย โดย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ การสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ได้นำเสนอแนวทางเพื่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม โดยระบุว่า รัฐบาลควรสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน ลดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษีโดยทำให้ โครงสร้างภาษีมีความเป็นกลาง ขจัดการแสวงหาผลการตอบแทนส่วนเกิน ปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนส่วนเกินแก่นักธุรกิจร่ำรวยที่อิงอำนาจการเมือง เพื่อทำให้ธุรกิจแข่งขันกันได้อย่างเสรี เท่าเทียม และเป็นธรรม เพื่อนักธุรกิจจะได้ไม่ต้องวิ่งเข้าหานักการเมือง เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ โทร.0-22701350 ศศิธร/นันทพร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ