กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
ลอรีอัล จัดงานพิธีมอบทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” พร้อมมอบถ้วยเกียรติยศ “นักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมเชิดชูเกียรติความสามารถของสตรีไทยในสายงานวิทยาศาสตร์
“สตรีช่วยแบกฟ้าอยู่ครึ่งโลกเท่ากับบุรุษ” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงแม้แต่น้อยและตอกย้ำให้เราตระหนักถึงบทบาทของอิสตรีที่มีความสำคัญไม่แพ้บุรุษที่สามารถสร้างสรรค์คุณงาม ความดีก่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติได้อย่างทัดเทียมกัน
ด้วยเหตุนี้ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ตัวแทนบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก ผู้นำทางด้านการค้นคว้าเพื่อความงาม ที่เชื่อว่าการศึกษาวิจัย ค้นคว้า อันนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่คุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และงดงามยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จัดงานมอบทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 7 ประจำปี 2552 ขึ้น พร้อมมอบถ้วยเกียรติยศพิเศษ สำหรับ “นักวิทยาศาสตร์ สตรีดีเด่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้กับนักวิทยาศาสตร์สตรีไทยอาวุโสผู้มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ว่าส่งผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมวลชนและสังคม ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษในปี พ.ศ. 2552 เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ในการดำเนินธุรกิจของ ลอรีอัล สำนักงานใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส โดยพิธีมอบทุนวิจัยและถ้วยเกียรติยศในครั้งนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท
ในค่ำคืนนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และมอบทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยสตรีที่ได้รับการคัดเลือก จากสาขาวัสดุศาสตร์ ประจำปี 2552 นี้ ได้แก่ ผศ.ดร. อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร. จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2552 นี้ ได้แก่ รศ. ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในขณะที่ถ้วยเกียรติยศพิเศษ “นักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จัดขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะในปี 2552 เพื่อฉลองลอรีอัลมีอายุครบ 100 ปี ได้มอบให้กับ ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าทีมวิจัยเครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก
ภายในงานพิธี ทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย มร. โคล้ด รัมเพลอร์ กรรมการผู้จัดการ และ คุณสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ร่วมกันต้อนรับและดูแลแขกผู้มาร่วมงานด้วยตัวเองตลอดทั้งงาน โดยมีแขกผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงวิทยาศาสตร์และแวดวงสังคมมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานกิตติมศักดิ์ในพิธี ผู้รักษาการแทนเอกอัคราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย มร. ญันน์ ปราโด ดร.กอปร กฤตยากีรณ อดีต รมช.กระทรวง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร.มรว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ดร. สุจินดา โชติพานิช ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา ศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ ตัณฑะพาณิชกุล รวม ไปถึง เจนี่ เทียนโพธ์สุวรรณ จุ๋ย วรัทยา นิลคูหา ศรีริตา เจนเซ่น และ พลอย ไลลา บุณยศักดิ์
บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดีแก่นักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นทุกท่าน โต๊ะต่างๆ ถูกจัดเรียงไว้ อย่างงดงามและถูกประดับประดาไปด้วยคริสตัลรูปหยดน้ำ และ ดอกไม้หลากสีที่บรรจงจัดวางไว้อย่างสวยงาม อีกทั้งโต๊ะแต่ละตัวก็ถูกเรียกชื่อตามเทพีในเทพนิยายกรีก อาทิเช่น Dina Hadraniel และ Gavreel ซึ่งเปรียบกับนักวิจัยสตรีทุกท่าน ที่เป็นดั่งเทพีผู้พิทักษ์ (Guardian Angel) ที่ทำหน้าที่ปกป้องและทำให้โลกของมวลมนุษย์สวยงามและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ส่วนการแสดงบนเวทีก็ถูกจัดขึ้นอย่างอลังการและยิ่งใหญ่สมกับการเชิดชูให้เกียรติสตรีไทยในสายงานวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ด้วยเสียงบรรเลงเพลงจากแก้วอันไพเราะ (Glass Harp) และการแสดงจินตลีลาของนักแสดงซึ่งสวยงามไม่มีที่ติ จบด้วยการกลับมาอีกครั้งกับเสียงร้องเพลงจากคุณนภาดา สุขกฤต ซึ่งทำให้แขกทุกท่านเคลิบเคลิ้มกับน้ำเสียงอันไพเราะประหนึ่งว่านั่งฟังเพลงโอเปร่าอยู่ในละครเพลงบรอดเวย์
ทั้งนี้โครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด และ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการมอบทุนวิจัยทุนละ 200,000 บาท จำนวน 4 ทุน สำหรับสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) จำนวน 2 ทุน และ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) จำนวน 2 ทุน สำหรับสตรีวิทยาศาสตร์ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ร่วมรณรงค์สร้างโอกาสให้สตรีมีบทบาท และได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น
2. ร่วมประชาสัมพันธ์ความสามารถของสตรีที่เป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของงานวิจัยและวิวัฒนาการสำคัญต่างๆอันมีผลต่อคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
3. ร่วมสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสตรีให้มีทุนทรัพย์และความพร้อมในการทำงานวิจัยอันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากขึ้น
4. ร่วมชูความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนให้สตรีสนใจสายงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น
5. ถ่ายทอดเจตนารมย์ของบริษัทลอรีอัล ประเทศไทย ในความมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างโอกาสและส่งเสริมคุณภาพของสังคมไทยให้ สมดุล สวยงาม และน่าอยู่มากขึ้น
โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านสายงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ของโครงการฯ เพื่อคัดเลือกงานวิจัยที่สมควรได้รับทุน “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ทั้งสิ้น 8 ท่าน ภายใต้การบริหารของประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ ดร. กอปร กฤตยากีรณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร. อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการคัดเลือก จากสาขาวัสดุศาสตร์ ประจำปี 2552 จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาฟิล์มพอลิแลคไทด์/ดินเหนียว นาโนคอมโพสิต เพื่อประยุกต์ใช้ในงานด้านบรรจุภัณฑ์อย่างอ่อน งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแลคไทด์ (PLA) โดยการเติมดินเหนียวขนาดนาโนเมตรให้กระจายตัวในเนื้อพลาสติก เนื่องจาก PLA มีความสามารถในการกันการซึมผ่านที่ดีในระดับหนึ่ง หากเติมดินเหนียวขนาดนาโนเมตรลงไป จะทำให้ได้บรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี นอกจากนี้ฟิล์มดังกล่าวยังสามารถถูกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฟิล์มนี้เป็นบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้การนำดินเหนียวมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นการช่วยลดต้นทุนการใช้เม็ดพลาสติกซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและผันผวน และ ผศ.ดร. จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การสังเคราะห์อนุภาคขนาดนาโนเมตรสำหรับการประยุกต์ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อทดแทนการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอาหารและยา และอุตสาหกรรมยานยนต์ ความรู้พื้นฐานทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยาจึงมีความจำเป็นทั้งต่อการเลือกใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาให้เหมาะสมและการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาขึ้นใช้เอง เพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานและช่วยลดมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตในปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ได้
รศ. ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2552 จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การสกัดสารสำคัญทางชีวภาพจากพืชสมุนไพรไทยโดยใช้เทคโนโลยีของไหลวิกฤตกึ่งวิกฤตและของไหลวิกฤตยวดยิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบสภาวะการสกัดของสารสำคัญจากจุลสาหร่ายและสมุนไพรที่มีในประเทศ ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์วิกฤตยวดยิ่งและน้ำกึ่งวิกฤต ซึ่งสารที่สนใจเป็นสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวมวลจากการเกษตรซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งยังเป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และ ดร. นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การนำเทคโนโลยี ไมโครอะเรย์มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยและพัฒนาทางชีวภาพในประเทศไทย ในปัจจุบันการผลิตไมโครอะเรย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ใช้งบประมาณสูงและต้องอาศัยบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ณ ห้องปฏิบัติการ ไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ณ หน่วยปฏิบัติการวิจัยกลางไบโอเทค จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิตไมโครอะเรย์ในประเทศไทยได้เองและมีราคาถูก ตัวอย่างเช่น การนำมาใช้แล้วเพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ ที่ปัจจุบันประสบปัญหาโรคระบาด กุ้งมีขนาดแคระแกร็น และการไม่สมบูรณ์พันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ แผ่นดีเอ็นเอไมโครอะเรย์จะช่วยศึกษายีนในกุ้งกุลาดำและฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเทคโนโลยีด้านแอนติบอดีไมโครอะเรย์ มาผลิตเป็นชุดตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในอาหารได้ทีละหลายๆ ตัวในเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและลดราคาต้นทุน ช่วยอุตสาหกรรมการส่งออกอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ จากภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าทีมวิจัยเครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก นักวิจัยสตรีที่ได้รับถ้วยเกียรติยศพิเศษ “นักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์สตรีไทยอาวุโสที่มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งผลดีอย่างชัดเจนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทย ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนื้ จากการเป็นผู้ริเริ่มและทุ่มเทให้กับการวิจัยเกี่ยวกับแคลเซียมและกระดูกในประเทศไทยมากว่า 30 ปี และได้เป็นผู้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายที่มุ่งศึกษาในเรื่องเมตาบอลิสมของแคลเซียมและกระดูกอย่างครบวงจร เพื่อนำไปสู่การต่อยอดประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย เพื่อให้คนไทยมีกระดูกที่แข็งแรงไปจนถึงวัยสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกซึ่งในปัจจุบันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นและเป็นภัยคุกคามสุขภาพของคนไทยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในวงกว้าง
มร. โคล้ด รัมเพลอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “ลอรีอัล เป็นบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก ที่ก่อตั้งขึ้นโดย นักเคมี ยูชีน ชูแลร์ ผู้ซึ่งมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการค้นคว้าและวิจัย โดยเชื่อว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่คุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และงดงามยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นจุดกำเนิดแห่งวิทยาการทางด้านความงาม ที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ก่อตั้ง ลอรีอัลจึงให้ความสำคัญกับการค้นคว้าและวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 ลอรีอัลได้ทุ่มงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการศึกษาและทดลองของนักวิจัยกว่า 3,000 คนจาก 60 เชื้อชาติ ที่ทำงานที่ศูนย์วิจัยและศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ของลอรีอัล 18 แห่งทั่วโลก”
“ปัจจุบันกว่าร้อยละ 55 ของนักวิจัย 3,000 คน ของลอรีอัลเป็นผู้หญิง เราจึงอยากสนับสนุนและยกย่องสตรี ที่ทำงานในสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้ ลอรีอัล ประเทศไทย จึงได้สานต่อจัดโครงการ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ขึ้นทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ปัจจุบัน ลอรีอัลได้มีการมอบทุนให้กับนักวิจัยสตรีไทยรวมแล้ว 27 คน ซึ่งเรามีความหวังว่านักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนจากโครงการของเราจะมีกำลังใจ ในการทำงานมากขึ้น และหวังว่าเรื่องราวของพวกเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยคนอื่นๆ รวมถึงเยาวชนไทยให้หันมาสนใจงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น” มร.รัมเพลอร์ กล่าวสรุป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณพรรวี สุรมูล และคุณกมลรัตน์ ปลอดภัย
บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 02 627-3501 ต่อ 110 หรือ 109