กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--UNFPA
รายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2552 ซึ่งเผยแพร่โดย UNFPA (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ) ระบุว่าการวางแผนครอบครัว การบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในอนาคต ตลอดจนการปรับตัวของมนุษย์ต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การเกิดพายุที่เลวร้ายขึ้น และปัญหาความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น
โดยรายงานฯ สรุปว่า ข้อตกลงระดับนานาชาติเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และนโยบายระดับชาติ มีแนวโน้มที่จะบรรลุผลในระยะยาว หากมีการคำนึงถึงพลวัตด้านประชากร ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และความอยู่ดีมีสุขและการเข้าถึงบริการและโอกาสของผู้หญิง ตัวอย่างเช่น การชะลอการขยายตัวของจำนวนประชากร จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้กับสังคม อีกทั้งจะมีส่วนในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปในอนาคต
โดยมากการอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จะวนเวียนอยู่กับประเด็นความรับผิดชอบของแต่ละประเทศเกี่ยวกับการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความพยายามในการระดมทุนเพื่อเปลี่ยนไปสู่พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนน้อยและเทคเนโลยีอื่น ๆ ทว่าแนวทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนคืออะไร ใครจะเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและในอนาคต ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA นางโธรายา อาเหม็ด โอเบด กล่าวในบทนำของรายงานฯ ว่า “คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญ แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือคำถามพื้นฐานที่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อผู้หญิง ผู้ชาย เด็กชาย และเด็กหญิง แตกต่างกันอย่างไรทั่วโลก และแม้แต่ภายในแต่ละประเทศ อีกทั้งการกระทำของคนๆ หนึ่งจะกร่อนทำลายหรือมีส่วนช่วยในความพยายามที่จะทำให้โลกที่ร้อนขึ้นทุกวันนี้ให้เย็นลงได้อย่างไร
นางโอเบด กล่าวเสริมว่า การอภิปรายที่จะมีต่อไปในอนาคตต้องคำนึงถึงมิติด้านมนุษย์และมิติหญิงชายในทุกๆ บริบทของปัญหา สนธิสัญญาที่จะเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนปรับตัวไปกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์จากพลังของหญิงและชายในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน จะก่อให้เกิดยุทธศาสตร์โลกที่ส่งผลในระยะยาวกับการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
องค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิของพื้นผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 0.74 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนจะไม่มากมายอะไร ทว่าความร้อนนี้มากพอที่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบนิเวศน์ของโลก และนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น หากแนวโน้มนี้ยังดำรงต่อไป หรือเพิ่มสูงขึ้น ดังที่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศพยากรณ์ไว้ ภายในปีคศ.2100 (พศ.2643) อุณหภูมิโลกอาจจะสูงขึ้นอีก 4-6 องศา ซึ่งน่าจะสร้างความหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจและประชากร นับจากปีคศ.1880 (พศ.2480) สถิติของปีที่โลกร้อนที่สุด 10 อันดับแรกล้วนอยู่ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา
บรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศทั่วโลกมีความเชื่อมั่นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นผลจากกิจกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้กับประชากรโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย การเผาไหม้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ที่เพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิด “ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก” การตัดไม้ทำลายป่า และการพังทลายของหน้าดิน ยังส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์มากขึ้น และกิจกรรมทั้งหลาย นับตั้งแต่การกสิกรรม ไปจนถึงการแช่แข็งก็ล้วนแต่นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่าง ๆ
ผลกระทบต่อประชากร
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอาจก่อให้เกิดความถดถอยในการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างยากลำบากตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ความเสื่อมถอยจากภาวะอากาศนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำ พายุหมุนเขตร้อนและคลื่นพายุหมุนที่รุนแรง อุทกภัย การสูญเสียการหลอมเหลวของน้ำแข็งขั้วโลกที่ใช้ในระบบเกษตรชลประทาน ความเปลี่ยนแปลงด้านอาหาร ตลอดจนวิกฤตการด้านสุขภาพ
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศคุกคามจนทำให้ปัญหาความยากจนรุนแรงยิ่งขึ้น และเป็นภาระที่สร้างความแร้นแค้นเพิ่มเติมต่อประชากรกลุ่มชายขอบและผู้ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรประมาณ 221 ล้านคนดำรงชีวิตด้วยค่าใช้จ่าย 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน คนยากจนจำนวนมากในภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง และที่ราบต่ำ และคนยากจนเหล่านี้เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือประชากรที่มีรายได้เลี้ยงชีพจากทะเล ครัวเรือนที่ยากจนจึงยิ่งเสียเปรียบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพราะรายได้ที่แท้จริงของพวกเขาน้อยมาก หรือพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ หรือเครือข่ายด้านความปลอดภัยอื่นๆ ที่จะช่วยป้องกันพวกเขาจากอันตรายที่เกิดจากสภาวะที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อพื้นที่ราบชายฝั่งที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และตามประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ทั้งหลาย
ในเดือนพฤษภาคม 2552 เดอะแลนเซ็ต วารสารทางการแพทย์ชั้นนำ เรียกการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศว่าเป็น “การคุกคามด้านสุขภาพของโลกที่ร้ายแรงแห่งศตวรรษที่ 21” “ผลของการแพร่กระจาย” ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศต่อรูปแบบของเชื้อโรคทั่วโลกจะแยบยลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความเปราะบางด้านสุขภาพอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น จะเกิดอุบัติการณ์ของโรคต่างๆ ที่เกิดจากพาหะนำโรคมากขึ้น ประชากรอีกหลายล้านคนอาจจะได้รับผลกระทบจากไข้มาลาเรีย เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ยุงซึ่งเป็นพาหะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เหนือเส้นศูนย์สูตร
สภาพภูมิอากาศกับการย้ายถิ่นฐาน
การเคลื่อนย้ายประชากรในระดับมหภาคมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะนำไปสู่การละทิ้งถิ่นฐานที่เกิดน้ำท่วม แห้งแล้ง หรือไม่เหมาะกับการดำรงชีวิต ซึ่งการย้ายถิ่นฐานนี้จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพมากมาย ทั้งโดยตรงจากความกดดันในกระบวนการโยกย้าย และโดยอ้อมจากความขัดแย้งของพลเรือนที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวุ่นวายในการอพยพโยกย้ายประชากร
ผู้คนจำนวนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบชายฝั่ง อาจจะต้องละทิ้งบ้านเรือนหากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นดังที่มีการทำนายไว้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความแห้งแล้งที่ยืดเยื้อและรุนแรง อาจจะเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรย้ายจากพื้นที่ชนบทเข้ามาในเมืองเพื่อหาที่อยู่ใหม่ ประชาชนในชุมชนแออัดเมืองซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มของการเกิดอุทกภัยน้ำท่วม อาจจะย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ชนบทเพื่อหลบหลีกอันตราย และในบางกรณี การทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ก็อาจทำลายโอกาสของการสร้างรายได้ ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่น
เหตุผลที่ผู้คนอพยพย้ายถิ่นหรือลี้ภัยเป็นเรื่องซับซ้อน จึงเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของการย้ายถิ่นฐาน ถึงกระนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศก็ดูเหมือนจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของการเคลื่อนย้ายประชากรในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้มากว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ
การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
อิทธิพลของกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นซับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราบริโภค ประเภทของพลังงานที่เราผลิตและใช้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในเมืองหรือในเรือกสวนไร่นา ไม่ว่าเราจะอายุมากน้อยเพียงใด เรารับประทานอะไร หรือแม้กระทั่งการที่ผู้หญิงและผู้ชายเพลิดเพลินกับสิทธิและโอกาสอันเท่าเทียม นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจนเกือบจะถึง 7 พันล้านคน เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากรและการบริโภคได้แซงหน้าเกินกำลังของโลกที่จะปรับตัว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจรุนแรงมากขึ้นอีก และอาจจะสร้างความเสียหายได้อย่างเหลือเชื่อ พลวัตด้านประชากรเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เรื่องราวอันสลับซับซ้อนได้นำไปสู่แนวทางที่บางประเทศและประชากรใช้ในการพัฒนาและนิยามความก้าวหน้า ตลอดจนแนวทางประกอบการตัดสินใจที่จะส่งผลกับชีวิตพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกประเทศมีความเท่าเทียม เมื่อเอ่ยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้บรรยากาศโลกร้อนขึ้น จนกระทั่งบัดนี้ ประเทศอุตสาหกรรมยังคงเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์และก๊าซอื่นๆ ที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศ ทว่ากลับป้องกันตนจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีส่วนรับผิดชอบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากลับต้องแบกภาระในการจัดการและปรับตัวไปกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุทกภัย และความแห้งแล้ง ประเทศอุตสาหกรรมสร้างปัญหาส่วนใหญ่ ทว่าประเทศยากจนกลับต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ใน การปรับตัว
ความสำคัญของความเร็วและระดับความรุนแรงจากการเพิ่มจำนวนประชากรซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตนั้นเป็นที่ตระหนักดีในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมไปถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การชะลออัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาอาจจะช่วยให้งานในการสร้างความสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศง่ายดายยิ่งขึ้นในระยะยาว และช่วยให้เกิดความเป็นไปได้ในการปรับตัวอย่างฉับพลันทันทีมากขึ้น อย่างไรก็ตามการชะลอการขยายตัวของจำนวนประชากรจะส่งผลเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับอนาคตของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มของเทคโนโลยีและการบริโภค
บทบาทของการขยายตัวของจำนวนประชากรต่อการเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปไกลเกินกว่าความเชื่อมโยงทางประชากรแต่เพียงอย่างเดียว องค์ประกอบทางครัวเรือนเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ จากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า อัตราการบริโภคพลังงานของครัวเรือนขนาดเล็กต่อประชากรหนึ่งคนอาจจะสูงกว่าครัวเรือนขนาดใหญ่ หลักฐานบางอย่างยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างอายุและการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ ตัวอย่างเช่น แนวโน้มของการอาศัยอยู่ในเมือง อาจจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซ พลวัตด้านประชากรยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว โดยในอนาคตอันใกล้พลวัตด้านประชากรจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของประเทศในการปรับตัวเข้ากับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ภาระอันไม่เป็นธรรมของผู้หญิง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงจะคุกคามชีวิตและเป็นบ่อนทำลายวิถีการดำรงชีวิต หากแต่ยังทำให้ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนยิ่งแย่ลง และขยายความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชายให้เพิ่มมากขึ้น ผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย พวกเธอนับเป็นกลุ่มประชากรที่เสี่ยงที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในหลายประเทศมีจำนวนผู้หญิงในแรงงานภาคกสิกรรมมากกว่าผู้ชาย อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกเธอมักจะเข้าถึงโอกาสในการหารายได้ได้น้อยกว่าผู้ชาย การที่ผู้หญิงจัดการกับงานบ้านและดูแลสมาชิกในครอบครัว มักจะจำกัดความสามารถในการเคลื่อนย้ายของพวกเธอ และก็ให้เกิดความเสียเปรียบยิ่งขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศ ความแห้งแล้งและปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอนเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงทำงานหนักขึ้นเพื่อความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงานของครอบครัว เด็กผู้หญิงออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อช่วยแม่ทำงานเหล่านี้ วัฏจักรของการถูกทอดทิ้ง ความยากจน และความไม่เท่าเทียมกัดกร่อนต้นทุนของสังคมที่จำเป็นต่อการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อคำนึงถึงบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาในการผลิตอาหาร ปัจจัยความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ระหว่างเพศ การกสิกรรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมควรได้รับการวิเคราะห์อย่างลึกซื้งมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เนื่องจากความยากจนกว่า มีอำนาจเหนือชีวิตของตนน้อยกว่า ได้รับการยอมรับในผลิตภาพทางเศรษฐกิจน้อยกว่า และภาระอันไม่เป็นธรรมในการผลิตและเลี้ยงดูบุตร ผู้หญิงเผชิญความท้าทายมากกว่าในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
การทำให้ผู้หญิงไม่มีความสำคัญและถูกเลือกปฏิบัติ ตลอดจนการขาดความเอาใจใส่ในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศซึ่งก่อให้เกิดการชะงักงันในการพัฒนา สุขภาพ ความเสมอภาค และความอยู่ดีมีสุขโดยรวมของมนุษย์ เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อนทำลายความสามารถในการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของประเทศ การคืนสู่สมดุลมีแนวโน้มที่จะเบ่งบานและเติบโตในสังคมที่ประชาชนสามารถไปโรงเรียน เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เพลิดเพลินกับการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการกำหนดทิศทางของชีวิตตน และชะตากรรมของชุมชนและชาติ บ่อยครั้งเช่นกันที่การฟื้นคืนสู่สมดุลมีรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นของตน ดังเช่นในกรณีของวิถีความเอื้อเฟื้อต่อผู้ที่มีความต้องการและความร่วมมือในการทำงานเมื่อเผชิญกับภัยพิบัติ
อนามัยการเจริญพันธุ์
ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนาเมื่อปี 1994 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้านประชากรและการพัฒนา ในที่ประชุมนานาประเทศในโลกต่างเห็นพ้องว่าประชากรไม่ใช่เรื่องของจำนวน แต่เป็นเรื่องของผู้คน แผนปฏิบัติการระยะ 20 ปีซึ่งได้รับการยอมรับไปปฏิบัติใช้โดยรัฐบาล 179 ประเทศ จึงก่อให้เกิดข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจและดูแลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมๆ กับบริการสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความมั่นคงด้านประชากรจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มิใช่โดยการบังคับหรือควบคุม
มีเหตุผลดีๆ ที่เราจะเชื่อว่าการบรรลุเป้าหมายการประชุมนานาชาติดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงงานด้านอนามมัยการเจริญพันธุ์อย่างถ้วนหน้า ประกอบกับการปรับปรุงการศึกษาของเด็กหญิงและความเสมอภาคทางเพศ จะช่วยให้วัตถุประสงค์ด้านสุขภาพและการพัฒนาสำเร็จลุล่วง ขณะเดียวกันก็จะมีส่วนในการลดอัตราการเกิดของประชากร ซึ่งจะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในระยะยาว การลดลงของอัตราการเกิดไม่ว่าจะโดยตัวมันเอง หรือร่วมกับการเพิ่มอัตราการอยู่รอดของมารดาและทารกนั้น อนามัยการเจริญพันธุ์ การศึกษา และความเสมอภาคทางเพศยังมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะนำไปสู่ระดับจำนวนประชากรต่ำกว่าที่มีการทำนายไว้ในแนวคิดส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถูกพัฒนาสำหรับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
วิธีการควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
รัฐบาลจะต้องคาดหมายและเตรียมการสำหรับความตึงเครียดในการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความท้าทายให้กับงานในการพัฒนาที่มีอยู่เดิม การบรรเทาปัญหาความยากจน การสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและอนามัย และการขยับไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ แนวทางที่ประสบความสำเร็จในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มสูงที่จะปรากฏขึ้นในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาสังคม ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางวัฒนธรรม การส่งเสริมศักยภาพสตรี และการเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม มาตรการเฉพาะเจาะจงที่จะขานรับกับปัญหาจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง มิใช่ความบ้าคลั่ง ช่องว่างในงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต้องได้รับการเติมเต็มก่อนจะสายเกินไป
ธรรมชาติอันซับซ้อนและแรงกระตุ้นของการโน้มน้าวประชาชนด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ชี้ให้เห็นแนวทางการปฏิบัติที่จำเป็น 3 ด้านในขณะนี้ อันจะนำไปสู่ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
การปรับตัวทันทีและอย่างต่อเนื่อง: อุณหภูมิโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ดังนั้นเราจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเตรียมการป้องกันสิ่งที่จะตามมาในอนาคต จากการที่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้นานหลายทศวรรษว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น และคาดหมายล่วงหน้ามาหลายศตวรรษว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น การเรียนรู้ที่จะปรับตัวและเตรียมการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศสู่สมดุลจึงเป็นงานที่ต้องทำในทันทีและเป็นงานระยะยาว อย่างไรก็ดี การปรับตัวไม่ใช่สิ่งที่ประเทศผู้อุปถัมภ์ ธนาคาร หรือภาคเอกชนจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าปัจจัยทางการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่การปรับตัวที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนจะต้องเกิดจากชีวิต ประสบการณ์ และปัญญาของผู้ที่กำลังปรับตัว
การบรรเทาปัญหาโดยทันที: หากปราศจากการยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดปริมาณการปล่อยอย่างรวดเร็ว การปรับตัวไปตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะไม่มีวันสิ้นสุด และอาจจะเป็นไปไม่ได้ แรงผลักดันที่จะก่อให้เกิดการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศไม่อาจเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซได้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจึงต้องเริ่มต้นโดยทันที
การบรรเทาปัญหาในระยะยาว: แม้ว่าความต้องการที่จะบรรลุความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซในระยะแรกมีแนวโน้มว่าจะเป็นงานที่มนุษย์ต้องทำต่อไปอีกนานหลายทศวรรษ หรืออาจจะเป็นศตวรรษก็ตาม แต่การสร้างความมั่งคั่งให้กับโลกควรจะกระทำควบคู่ไปกับการระวังป้องกันไม่ให้กิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์กระทำส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศโลกและสภาพอากาศภายนอกโลก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-297-4992 UNFPA