กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กรมศุลกากร
ประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมีด่านศุลกากรประจำพื้นที่ควบคุมและกำกับดูแลในการนำเข้าสินค้าและส่งสินค้าออกตามแนวชายแดน ผ่านเขตแดนทางบกหรือเขตแดนทางน้ำกั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ในแต่ละด่านศุลกากรยังมีจุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการค้าชายแดนมีความสำคัญในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งต่ำ เป็นช่องทางในการหาวัตถุดิบที่มีราคาถูก สามารถส่งออกสินค้าที่มีราคาต้นทุนต่ำ
1. ภาวะการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ปีงบประมาณ 2552 การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่า 795,394 ล้านบาท (เป็นการนำเข้า 334,444 ล้านบาท และส่งออก 460,950 ล้านบาท) ขยายตัวลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 8.9 ตามทิศทางสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมูลค่าการค้ารวมของประเทศหดตัวลงถึงร้อยละ 18.02
แม้ว่าอัตราการขยายตัวของการค้าชายแดนจะลดลง แต่ในปีงปม. 52 ไทย ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนการค้าชายแดนต่อมูลค่าการค้ารวมคิดเป็นร้อยละ 7.36 ใน ปีงปม. 2551 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.18 ใน ปีงปม. 2552 ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของการนำเข้าและการส่งออก
2. สัดส่วนมูลค่าการค้าชายแดนไทย - เพื่อนบ้าน
การค้าชายแดน ในปีงปม. 2552 ร้อยละ 68 เป็นการค้าขายกับ มาเลเซีย ร้อยละ 17 เป็นการค้าระหว่างไทย-พม่า ร้อยละ 9.7 เป็นการค้าทางด้านชายแดนไทย-ลาว และมีการค้ากับกัมพูชา ประมาณร้อยละ 5.5
ปีงปม. 52 การค้าชายแดน มีอัตราการขยายตัวลดลง เกือบทุกด้าน ยกเว้นการค้าไทย- พม่า ซึ่งมีการส่งออกเพิ่มขึ้น6,700 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.6 โดยเป็นการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่ม เชื้อเพลิง เครื่องดื่ม สุรา สิ่งสกัดหรือหัวเชื้อเข้มข้น ของชาหรือกาแฟ ยานบกและส่วนประกอบ มอนิเตอร์และเครื่องฉาย ฯลฯ
2.1 การค้าชายแดนไทย — มาเลเซีย
2.1.1 มูลค่าการค้าชายแดนไทย- มาเลเซีย ด่านศุลกากรที่มีพรมแดนติดประเทศมาเลเซีย 10 ด่าน ได้แก่ ด่านฯ สงขลา ด่านฯ สะเดา ด่านฯ ปาดังเปซาร์ ด่านฯ ปัตตานี ด่านฯ ตากใบ ด่านฯ สุไหงโก-ลก ด่านฯ เบตง ด่านฯ กันตัง ด่านฯวังประจัน และด่านฯ สตูล ปีงบประมาณ 2552 สัดส่วนการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68 ของการค้าชายแดนรวม โดยมีมูลค่า 538,319 ล้านบาท (อัตราการขยายตัวลดลง ร้อยละ 11.5 เปรียบเทียบกับปีก่อน) โดยขาดดุลการค้าจำนวน 57,352 ล้านบาท (การนำเข้ามีมูลค่า 216,761 ล้านบาท ส่งออก จำนวน 321,558 ล้านบาท)
2.1.2 สินค้านำเข้าจากมาเลเซีย ที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า มีมูลค่า 81,703 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.7 ของมูลค่านำเข้าชายแดนจากมาเลเซีย) เครื่องจักรกล มีมูลค่า 40,993 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19 เรือและสิ่งก่อสร้างแบบลอยน้ำ มีมูลค่า 21,737 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ) ของทำด้วยเหล็ก มีมูลค่า 13,068 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6) ปลาและสัตว์น้ำมีมูลค่า 11,579 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5)
มูลค่าการนำเข้าร้อยละ 58 ของการชายแดนไทย-มาเลเซีย นำเข้าทางด่านฯ สะเดา ในปีงปม. 52 นำเข้าจำนวน 126,650 ล้านบาท ร้อยละ 26 นำเข้าทางด่านฯสงขลา และอีกประมาณร้อยละ 14 นำเข้าทางด่านฯปาดังเบซาร์
2.1.3 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยางและของทำด้วยยาง (พิกัด 40) ในปีงบประมาณ 2552 มีมูลค่าส่งออก 135,824 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าส่งออกที่ไทยส่งไปยังมาเลเซีย) รองลงมาได้แก่เครื่องจักรกล มูลค่า 39,302 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 12 ) อันดับ 3 ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า มีมูลค่า 30,870 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6) ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา มีมูลค่าส่งออก 19,842 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.2)และ ปลาและสัตว์น้ำ ส่งออกจำนวน 15,349 ล้านบาท (หรือร้อยละ 4.8)
โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออก ทางด่านฯ สะเดา (ร้อยละ 35) ด่านฯ ปาดังเบซาร์ ส่งออกร้อยละ 32 และส่งออกทางด่านฯ สงขลา ร้อยละ 27
2.2 การค้าชายแดนไทย — พม่า
2.2.1 มูลค่าการค้าชายแดนไทย - พม่า ที่ผ่านด่านศุลกากร 7 ด่านคือ ด่านฯ ระนอง ด่านฯ สังขละบุรี ด่านฯ แม่สะเรียง ด่านฯ แม่สอด ด่านฯ แม่สาย ด่านฯ แม่ฮ่องสอน และด่านฯ เชียงดาว ในปีงบประมาณ 2552 มีมูลค่า 135,501 ล้านบาท (อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.76) การค้าชายแดนไทย-พม่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม โดยการนำเข้ามีมูลค่า 97,770 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 4.3 ) การส่งออก จำนวน 37,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.6
2.2.2 สินค้านำเข้าจากพม่า ร้อยละ 94 เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (พิกัด 271121) มีมูลค่า 92,294 ล้านบาท โดยนำเข้าทางด่านสังขละบุรี อีกประมาณร้อยละ 3 เป็นการนำเข้าปลาและสัตว์น้ำ มีมูลค่า 2,684 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปีงปม. 2552 มีการนำเข้าธัญพืช เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 381 ล้านบาท โดยเฉพาะข้าว (นำเข้าผ่านด่านฯ แม่สอด) มีมูลค่า 380 ล้านบาท จากที่ไม่มีการนำเข้าในปีที่ผ่านมา )
การนำเข้าสินค้าจากพม่า ร้อยละ 95 นำเข้าทางด่านสังขละบุรี ร้อยละ 3.3 ผ่านทางด่านฯ ระนอง และอีกประมาณร้อยละ 1.8 นำเข้าทางด่านฯ แม่สอด
2.2.3 สำหรับการส่งออก มีการส่งออกสินค้ากระจายตัวในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ เชื้อเพลิง มูลค่าการส่งออก 8,403 ล้านบาท (สัดส่วนส่งออกคิดเป็นร้อยละ 22.2) ยานบกและส่วนประกอบ ส่งออก 2,628 ล้านบาท (ร้อยละ 7) ของปรุงแต่งที่บริโภคได้ มีมูลค่า 2,542 ล้านบาท (ร้อยละ 6.7 ) เครื่องดื่ม สุรา มีมูลค่า 2,152 ล้านบาท (ร้อยละ 5.7) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (ร้อยละ 5)
มูลค่าการส่งออกไปพม่า ร้อยละ 59 เป็นการส่งออกผ่านทางด่านฯ แม่สอด ร้อยละ 28 ผ่านทางด่านฯ ระนอง และร้อยละ 11.3 ผ่านทางด่านฯ แม่สาย
2.3 การค้าชายแดนไทย — ลาว
2.3.1 มูลค่าการค้าชายแดนไทย- ลาว ที่ผ่านด่านศุลกากร 11 ด่าน ได้แก่ ด่านฯ เชียงแสน ด่านฯ เชียงของ ด่านฯเชียงคาน ด่านฯ ท่าลี่ ด่านฯ หนองคาย ด่านฯ บึงกาฬ ด่านฯ นครพนม ด่านฯ เขมราฐ ด่านฯ มุกดาหาร ด่านฯ พิบูลมังสาหาร และด่านฯทุ่งช้าง ปีงบประมาณ 2552 มีมูลค่า 77,488 ล้านบาท (อัตราการขยายตัวลดลง ร้อยละ 5.8 เปรียบเทียบกับปีก่อน) โดยการนำเข้ามีมูลค่า 17,444 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 10.6) ส่งออก จำนวน 60,044 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.3 สัดส่วนมูลค่าการค้าชายแดน ไทย-ลาวมีสัดส่วนร้อยละ 9.7 ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม
2.3.2 ปีงบประมาณ 2552 สินค้าหลักที่นำเข้าจากลาว ได้แก่ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ มูลค่านำเข้า 7,486 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 43) ทั้งหมดนำเข้าทางด่านมุกดาหาร รองลงมา ได้แก่ ไม้และของทำด้วยไม้ มูลค่านำเข้า 2,101ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 12) ยานบกและส่วนประกอบ นำเข้า 1,007 ล้านบาท(สัดส่วนร้อยละ 5.8) ปีงปม. 2552 มีการนำเข้าข้าวโพด เพิ่มขึ้น ประมาณ 330 ล้านบาท (อัตราการขยายตัวร้อยละ 75) ส่วนใหญ่ นำเข้าทางด่านฯ ท่าลี่
สินค้าที่นำเข้าจากลาว ร้อยละ 52 ผ่านทางด่านฯ มุกดาหาร นำเข้าทางด่านฯ หนองคาย ร้อยละ 12 นอกจากนั้นมีการนำเข้าทางด่านท่าลี่ นครพนม เชียงแสน เชียงของ และพิบูลมังสาหาร
2.3.3 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีมูลค่าสูงในปีงปม. 2552 ได้แก่ เชื้อเพลิง (มูลค่าส่งออก 11,249 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ของมูลค่าการส่งออกรวม) ยานบกและส่วนประกอบ (มูลค่าส่งออก 8,619 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 14) เครื่องจักรกล (ส่งออก มีมูลค่า 5,447 ล้านบาท หรือร้อยละ 9 ) เครื่องดื่ม สุรา ( มูลค่าส่งออก 3,239 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 5) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (มูลค่าส่งออก 2,602 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 4.3)
มูลค่าการส่งออก ร้อยละ 49 เป็นการค้าผ่านด่านฯ หนองคาย รองลงมาได้แก่ ด่านฯ มุกดาหาร ร้อยละ 14 และอีกประมาณร้อยละ 9 เป็นการค้าผ่านด่านฯ เชียงแสน
2.4 การค้าชายแดนไทย — กัมพูชา
2.4.1 มูลค่าการค้าชายแดนไทย- กัมพูชา ที่ผ่านด่านศุลกากร 4 ด่าน คือ ช่องจอม ด่านฯอรัญประเทศ ด่านฯคลองใหญ่ และด่านจันทบุรี ปีงบประมาณ 2552 มีมูลค่าการค้า จำนวน 44,086 ล้านบาท (อัตราการขยายตัวลดลง ร้อยละ 10.4 เปรียบเทียบกับปีก่อน) โดยการนำเข้ามีมูลค่า 2,468 ล้านบาท (ลดลง 725 ล้านบาทหรือร้อยละ 22.7) การส่งออกมีมูลค่า 41,617 ล้านบาท(ลดลง 4,366 ล้านบาทหรือร้อยละ 9.5 ) การค้าชายแดนไทย-กัมพูชามีสัดส่วนราวร้อยละ 5.6 ของมูลค่าการค้าชายแดน
2.4.2 ปีงบประมาณ 2552 สินค้านำเข้าจากกัมพูชา ที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธัญพืช (ส่วนใหญ่ เป็นข้าวโพด)มูลค่านำเข้า 647 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 26) รองลงมาได้แก่ มันสำปะหลัง นำเข้า 525 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 21) และอันดับสามได้แก่ เมล็ดและผลไม้มีน้ำมัน นำเข้า 292 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 12) ส่วนใหญ่ได้แก่ ถั่วเหลือง
การนำเข้าสินค้าจากกัมพูชา ร้อยละ 57 นำเข้าทางด่านฯ อรัญประเทศ มีการนำเข้าทางด่านฯ จันทบุรี ร้อยละ 30 นำเข้าทางด่านฯ ช่องจอม ร้อยละ 8.7 และด่านฯ คลองใหญ่ ร้อยละ 5
2.4.3 ในขณะที่การส่งออกสินค้าที่สำคัญ ในปีงปม. 2552 ได้แก่ น้ำตาล น้ำมันปิโตรเลียม สุกรมีชีวิต ซีเมนต์ อาหารสัตว์ และยานนอกชนิดอัดลม ด่านที่มีมูลค่าการส่งออกสูงได้แก่ ด่านฯ อรัญประเทศ มูลค่าการส่งออกปีงบประมาณ 2552 จำนวน 21,549 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกรวม) และอีกร้อยละ 40 เป็นการส่งออกทางด่านฯ คลองใหญ่
3. บทสรุป
แม้ว่าการค้าชายแดนในปีงบประมาณ 2552 จะมีมูลค่าลดลง ทั้งนี้อาจเนื่องเพราะ ปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาความมั่นคงภายใน หรือนโยบายภายในของแต่ละประเทศในแต่ละช่วงเวลา ก็ตาม แต่พบว่า สัดส่วนการค้าชายแดนต่อมูลค่าการค้ารวมสูงขี้นอย่างมีนัยสำคัญ และแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุประการหนึ่ง เนื่องจาก ความสะดวกรวดเร็วของการขนส่งสินค้าตามเส้นทางรถยนต์ ระบบโลจิสติกส์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรด้วยระบบ e- Customs ทำให้การนำเข้า-ส่งออกมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ข้อมูล:ส่วนวิเคราะห์และติดตามการจัดเก็บภาษีอากร
สำนักมาตรฐานพิธีการและราคา กรมศุลกากร