ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผนึกตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์เดินแผนงานมุ่งสู่ตลาดทุนครบวงจร

ข่าวทั่วไป Wednesday November 1, 2006 09:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผนึกกำลังร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์ พร้อมบริษัทย่อย มุ่งสู่การเป็นตลาดรองครบวงจรที่น่าสนใจในภูมิภาค กำหนด 11 แผนธุรกิจ ทั้งการเพิ่มสินค้าใหม่ กระตุ้นการลงทุนทางอินเทอร์เน็ต เปิดรับการส่งคำสั่งโดยตรง เพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์ และการเชื่อมโยงระบบงานที่สำคัญกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค ตั้งเป้าเพิ่มผู้ลงทุนในทุกตราสารและทุกตลาดทั้งการลงทุนทางตรงและทางอ้อมเป็น 5 ล้านคนในปี 2550 เพิ่มสัดส่วนซื้อขายผู้ลงทุนสถาบันเป็นร้อยละ 20 ในปี 2552 พร้อมเพิ่ม 64 บริษัทจดทะเบียนใหม่ โดยมุ่งยกระดับบรรษัทภิบาลและงานนักลงทุนสัมพันธ์บริษัทจดทะเบียน โดยยังมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลแก่เยาวชนถึงระดับ ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรม e-learning และ Money Channel
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติแผนการดำเนินงานปี 2550 เพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ระหว่างปี 2550-2552) เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและมุ่งสู่การเป็นตลาดรองที่ครบวงจร มีสินค้าครบถ้วน หลากหลายและมีคุณภาพ (Integrated Market) พร้อมเป็นตลาดหลักทรัพย์สำคัญของภูมิภาค โดยมีตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ตลาดตราสารหนี้ (BEX) และตลาดอนุพันธ์ (TFEX) พร้อมทั้งบริษัทย่อยร่วมกำหนดกลยุทธ์
“ในการเพิ่มความน่าสนใจเพื่อยกระดับตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดรองที่สำคัญในภูมิภาคนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนด 8 แผนกลยุทธ์ที่เน้นการดำเนินงานใน 3 แนวทาง คือ 1) การเป็นตลาดรองที่ครบวงจร การมีสินค้าครบถ้วน หลากหลายและมีคุณภาพ 2) การเป็นตลาดหลักทรัพย์สำคัญของภูมิภาค และ 3) การสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยแผนธุรกิจที่สำคัญ 11 แผนงาน” นางภัทรียากล่าว
ตามแผนกลยุทธ์ที่ 1 ด้านการมีสินค้าที่ครบถ้วนหลากหลายนั้นประกอบด้วยแผนธุรกิจ 3 แผนคือ 1) การเพิ่มสินค้าใหม่ใน ปี 2550 ได้แก่ การออก ETF (Exchange Traded Fund) ในไตรมาส 2 ซึ่งได้รับอนุมัติในหลักการจากคณะกรรมการให้มีการจัดตั้งแล้วด้วยมูลค่าขั้นต่ำ IPO 300 ล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนการจัดตั้งด้วยเงินทุน 100 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดอนุพันธ์จะออก SET50 Index Options ในไตรมาส 3 ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้จะเตรียมการเพื่อผลักดันให้มีธุรกรรมการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) มากขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2551
2) การเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในปี 2550 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้น 64 บริษัท แบ่งเป็น 40 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ 24 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ทั้งนี้ จะมีการผลักดันรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และบริษัทเป้าหมาย อาทิ กลุ่มธุรกิจในภาคบริการ บริษัทไทยที่มีการลงทุนในต่างประเทศเข้าตลาดหลักทรัพย์
นายวิเชฐ ตันติวานิช ประธานที่ปรึกษา ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า “mai จะเร่งสร้างกลไกธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital:VC) โดยใช้ mai Matching Fund ที่คาดว่าจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งได้ภายในสิ้นปี 2549 นี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพให้มีความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนใน mai ในอนาคต พร้อมกับจะทำงานร่วมกับพันธมิตร และยกระดับ mai ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น”
3) ด้านการเพิ่มสภาพคล่อง จะผลักดันให้บริษัทที่มี Free float เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (15% ของทุนชำระแล้ว) มีค่าเฉลี่ย Free float เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2550 และจะเพิ่ม Market Maker หรือผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างน้อย 3 รายในปี 2550 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในทุกตลาด โดยตลาดตราสารหนี้จะสร้างระบบการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน หรือ Private Repo ซึ่งจะสามารถกำหนดรูปแบบสำหรับการให้บริการได้ในปี 2550 นี้
แผนกลยุทธ์ที่ 2 การบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบข้อมูลสารสนเทศของตราสารประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกันก่อนเชื่อมโยงระบบซื้อขาย รวมทั้ง แก้กฎเกณฑ์ให้ผู้ลงทุนสามารถมี Single Account ได้มีการกำหนดให้แผนธุรกิจที่ 4) ซึ่งจะมีการให้บริการศูนย์รวมความรู้แห่งการลงทุนได้ในปี 2550 เป็นต้นไป และจะเปิดบริการ Integrated Information Portal ที่สามารถแสดงข้อมูลของทุกตลาดบนเว็บไซต์กลางของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2550 นอกจากนี้ จะศึกษาและพัฒนาระบบงาน เพื่อรองรับการเชื่อมโยงระบบซื้อขายระบบงาน Back Office และระบบงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของทุกตลาด (Integrated Invester Account) การเตรียมการเพื่อการให้บริการส่งคำสั่งซื้อขายของทุกตลาดได้ผ่านหน้าจอเดียว (Integrated Trading Screen) รวมถึงการนำระบบตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใช้กับตลาดตราสารหนี้และตลาดอนุพันธ์ (Inter-Market Surveillance) ซึ่งจะพร้อมใช้งานได้ในปี 2552
แผนกลยุทธ์ที่ 3 การจัดช่องทางการซื้อขายที่สะดวกและเหมาะสมกับการเข้าทำธุรกรรมในทุกตราสาร จะดำเนินงานแผนธุรกิจที่ 5) เรื่องการเปิด Direct Market Access (DMA) เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันสามารถส่งคำสั่งซื้อขายโดยตรงมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดอนุพันธ์ได้ตั้งแต่ปี 2550 พร้อมทั้ง งานตามแผนธุรกิจที่ 6) ที่จะขยายฐานผู้ลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ต โดยออกแบบโปรแกรมซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่หลากหลาย โดยจัดกิจกรรมทางการตลาดและรณรงค์ให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการลงทุนทางอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง โดยมี Money Channel เป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูล
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผู้ลงทุนในทุกตราสารและทุกตลาด ทั้งที่ลงทุนทางตรง และผ่านกองทุน อาทิ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็น 5 ล้านคนในปี 2550 โดยจะส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อการเป็นเจ้าของหรือ Ownership Investment และตั้งเป้าหมายที่จะมีบัญชีที่มีการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ (Active account) 2 แสนคน และเพิ่มสัดส่วนการซื้อขายของผู้ลงทุนสถาบันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนให้เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการซื้อขายในปี 2552 รวมถึง การเพิ่มอัตราหมุนเวียนการซื้อขาย (Turnover Ratio) เป็น 1 เท่าในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ 1.5 เท่าในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายให้มากขึ้น
ส่วนการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์นั้น นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อมีการออก SET50 Index Options และมีการเปิด DMA รวมทั้งมี Market Maker สำหรับสินค้าใหม่ในปี 2550 แล้ว คาดว่าจะทำให้ปริมาณการซื้อขายโดยรวมของ TFEX เพิ่มขึ้นเป็น 5,500 — 6,000 สัญญาต่อวัน
แผนกลยุทธ์ที่ 4 จะมีการปรับปรุงและยกระดับกฏเกณฑ์และมาตรฐานให้ทัดเทียมกับตลาดหลักทรัพย์สำคัญในภูมิภาค โดยจะลดระยะเวลาและขั้นตอนในการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนแบบเป็นขั้นเป็นตอนให้เป็นไม่เกิน 60 วันในปี 2552 โดยทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะยกระดับมาตรฐานการบัญชีตาม International Financial Reporting Standard (IFRS) ที่เป็นมาตรฐานสากลตามแผนธุรกิจที่ 7 — 9
“ในขณะเดียวกันจะเร่งยกระดับบรรษัทภิบาลที่ดี โดยให้ความสำคัญด้านสิทธิของผู้ถือหุ้น และความรับผิดชอบของกรรมการ รวมทั้ง เน้นการติดตามให้เกิดการปฏิบัติจริง รวมทั้ง การพัฒนาบริษัทจดทะเบียนด้านงานนักลงทุนสัมพันธ์ โดยการส่งเสริมให้ความรู้บุคลากรของบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งจะดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่ 5 ที่จะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ลงทุนทำธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อขายสำหรับทุกตราสารได้โดยสะดวก (แผนธุรกิจที่ 6)” นางภัทรียากล่าว
ในขณะเดียวกัน ตามแผนกลยุทธ์ที่ 6 จะมีการสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเพิ่มบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์ โดยการสร้างเอกภาพของการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศกับหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในหลายระดับ ทั้งกับตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน การสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคี (Bilateral) อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จะสร้างความร่วมมือกับ KOSDAQ ของประเทศเกาหลี เป็นต้น (แผนธุรกิจที่ 10)
ดร.สันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ กล่าวว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ดังกล่าว ตลาดตราสารหนี้ จะทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเชื่อมโยงระบบซื้อขายกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และจะผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขายระหว่างตลาดตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมทั้ง จะดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระบบซื้อขายกับตลาดตราสารหนี้อื่น ๆ รวมถึงการผลักดันกฎระเบียบสำหรับการทำจดทะเบียนข้ามตลาดหรือ Cross listing และการซื้อขายข้ามตลาด หรือ Cross trading ด้วย ซึ่งจะมีส่วนอย่างยิ่งในการเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้เข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดตราสารหนี้มากขึ้น”
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญให้เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุน ตามแผนกลยุทธ์ที่ 7-8 โดยจะมีการขอการสนับสนุนจากภาครัฐในการขอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับบริษัทจดทะเบียน การส่งเสริมให้มีนโยบายการออมภาคบังคับ การขอยกเว้นการเก็บภาษีกำไรจากการขาย ตราสารหนี้ ในขณะที่ mai จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ VC เป็นต้น (แผนธุรกิจที่ 11)
นอกจากแผนกลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมีแผนการจัดกิจกรรมทางการตลาดและการให้ความรู้ เพื่อขยายฐาน ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะมีการให้ความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลและการลงทุนเบื้องต้นแก่เยาวชนไปจนถึงผู้ลงทุน โดยเริ่มตั้งแต่เยาวชนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 อาชีวะศึกษา รวมทั้งนิสิต และนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้ และการจัดทำหลักสูตร และ e-learning เพื่อเผยแพร่ไปยังโรงเรียนไม่น้อยกว่า 10,000 แห่ง พร้อมทั้งการอบรมความรู้แก่ครูทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้เยาวชนกว่า 20,000 คนได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินส่วนบุคคลและการลงทุนมากขึ้น โดยมีสถานีโทรทัศน์ Money Channel เป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเพื่อการลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าการกำหนดแผนกลยุทธ์ข้างต้นโดยมีตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์ รวมทั้ง บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด และบริษัทย่อยทุกแห่งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีและมุ่งไปสู่การเป็นตลาดรองที่ครบวงจร และมีความน่าสนใจในระดับภูมิภาค และเป็นพลังสำคัญในตลาดทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว” นางภัทรียากล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ