กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สสส.
สโลแกน “เด็กดื้อไม่มี มีแต่ผู้ใหญ่ดื้อ” เป็นจุดเด่นในการเสวนา “เข้าถึง เข้าใจ... หัวใจเด็กดื้อยุค 3 G ที่จัดขึ้นเพื่อเปิดตัวโครงการ “เปิดพื้นที่หัวใจวัยโจ๋” ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการเสวนาวิทยากรแต่ละท่านได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความดื้อในวัยเด็กและการแปลความดื้อในตัวเป็นพลังสร้างสรรค์
ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนา นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจสุขภาพจิตของคนไทยปี 2552 ที่พบว่าเยาวชนไทยที่อายุระหว่าง 15 — 24 ปี มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับวัยอื่น ๆ และ หนึ่งในสามของเยาวชนไม่มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อมีเหตุการณ์คับขันหรือร้ายแรงเกิดขึ้น นอกจากนี้ เยาวชนยังเป็นกลุ่มอายุที่มีความสุขในการช่วยเหลือผู้อื่นน้อยที่สุด
ต่อมาในช่วงเสวนาได้เริ่มต้นที่ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มาบอกปัจจัย 4 อย่างที่วัยรุ่นจะประสบความสำเร็จได้ ประกอบด้วย การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ การศึกษา พันธุกรรม หมายถึงสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ และสิ่งแวดล้อม เช่น อินเตอร์เน็ต สื่อต่างๆ และแถมท้ายด้วยว่าตัวของวัยรุ่นเอง ก็ต้องสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ค้นหาตัวเองด้วยวิธีที่ถูกต้อง
ด้าน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นทันทีว่า เด็กดื้อไม่ใช่ปัญหา หากดื้ออยู่ในขอบเขต และการดื้ออยู่ในขอบเขตอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนทางสังคมในทางที่ดีขึ้นด้วย ดร.ปริญญา ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกิดจากผู้ใหญ่และเด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ที่แวดล้อมซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี และอธิบายเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้มี 2 มิติ 1) ผู้ใหญ่ที่ห้ามเด็ก เพราะไม่ถูกใจ ผลที่ตามมาในกลุ่มนี้คือเด็กจะแอบทำ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รับผิดชอบสังคม 2) ผู้ใหญ่ที่ตามใจเด็ก เพราะถูกใจ ผลที่ตามมาคือเด็กโตขึ้นจะเป็นคนตามใจตัวเอง
หากเด็กอยากดื้อก็ให้ดื้ออยู่ในกติกา เด็กทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เด็กต้องมีเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม ไม่เช่นนั้นสังคมไทยก็จะมีแต่ผู้ใหญ่มีเสรีภาพแต่ไม่มีความรับผิดชอบ เด็กที่ถูกห้ามตลอดเวลาโตขึ้นอาจกลายเป็นเสียตัว เสียคน เสียชีวิต ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนให้เด็กมีเสรีบนความรับผิดชอบ และสังคมที่แย่ทุกวันนี้เพราะทุกคนโทษแต่คนอื่น ไม่ได้คิดแก้ปัญหาที่ตัวเอง
ตบท้ายการเสวนาด้วย 2 วัยรุ่นที่กำลังมาแรง โทนี่รากแก่น และเต๊ะ ศตวรรษ โดย เต๊ะ ศตวรรษ เล่าว่า ที่มายืนอยู่ในจุดนี้ได้เพราะความมีอิสระทางความคิดในครอบครัวที่ให้มาพร้อมกับการช่วยประคองจากพ่อแม่ เพราะในช่วงรอยต่อที่เขาต้องไปทำงานที่ประเทศไต้หวันด้วยวัยเพียง 17 ปี ทำให้เกิดความกังวล ลังเลมากมาย มีทั้งเสียงคัดค้าน เสียงสนับสนุน ทำให้สับสนวุ่นวายในชีวิต ซึ่งขณะนั้นตัวเองก็เริ่มมั่นใจที่จะก้าวไปตามฝันของตัวเองไปทำงานที่ประเทศไตหวันแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่และพร้อมก้าวไปพร้อมกับเขา เต๊ะบอกว่าตอนนั้นคิดแล้วว่าหากแพ้ก็ไม่เป็นไรเพราะได้ทำตามฝันแล้ว แต่หากชนะก็เป็นความภาคภูมิใจ เต๊ะ ให้ข้อคิดว่า หากอยากอิสระ อยากดื้อ ก็ขอให้มีพ่อแม่คอยประคองอยู่ห่างๆ เมื่อนั้นเราก็จะประสบความสำเร็จ
โทนี่ เล่าว่าชีวิตส่วนใหญ่อยู่ประเทศออสเตรเลีย อยู่กับพี่สาว เพิ่งกลับมาเมืองไทยได้ปีกว่า ตอนอยู่ต่างประเทศลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เงินที่คุณแม่ส่งมาก็นำไปลงทะเบียนเรียนเฉพาะวิชาที่ชอบคือศิลปะ ส่วนเงินที่เหลือเอาไปทำอย่างอื่นหมด จนได้พี่สาวคอยตักเตือนและคิดได้ว่าต้องทำงานเพื่อหาเงินมาเรียนให้ได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการไปทำงาน part time ทำให้เป็นคนมีความรับผิดชอบมากขึ้น ได้ประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น
โทนี่ ยอมรับว่าตัวเองค่อนข้างเกเร แต่เกเรแบบขี้เกียจเรียนหนังสือชอบแต่ศิลปะ ค้นพบว่าตัวเองชอบแต่ศิลปะ ทำให้ชอบหาความรู้เกี่ยวกับศิลปะ เกิดความรู้เกี่ยวกับศิลปะ และไม่รู้สึกเหนื่อยเลย เมื่ออยู่กับศิลปะ กลับได้รับแต่ความสุข พร้อมให้ข้อคิดถึงวัยรุ่นไทยว่า “วัยรุ่นต้องเริ่มค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ มองเข้าไปที่ตัวเอง ค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะหากถนัดแล้วเราก็จะมีแรงที่จะเรียนรู้ได้เองโดยอัตโนมัติ เกิดความสุขที่จะทำ”
ผู้ใหญ่ส่วนมากจะตัดสินความถูกผิด และไม่ยอมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ส่งผลให้เด็กขาดพื้นที่ในการค้นหาตัวเอง และขาดโอกาสในการได้ทำสิ่งดี ๆ ที่ตนเองจะรู้สึกภาคภูมิใจ โครงการ “เปิดพื้นที่หัวใจวัยโจ๋” เป็นการเปิดพื้นที่ในการแสดงออกให้กับเยาวชน และเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ในสังคมให้มากยิ่งขึ้น
โครงการนี้ได้คัดเลือกพื้นที่ 20 จังหวัดจากทั่วประเทศ จัดอบรมเยาวชนจำนวนรวม 1,200 คน ในเทคนิคผลิตวิดีโอคลิปเพื่อสะท้อนภาพชีวิตและมุมมองของเยาวชน พร้อมเปิดรับผลงานวิดีโอคลิปความยาว 1-3 นาที จากผู้มีอายุระหว่าง 13-17 ปี หรือกำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาหรือเทียบเท่า จากทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมประกวดแข่งขัน ชิงเงินรางวัลรวม 1 แสนบาท ผู้สนใจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dekdue.com ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2553 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สุรางค์ ศิริมหาวรรณ 098 115 1866 สุนิสา ช่างหลอม 086 085 6433