กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ย้ำผู้ประกันตน ญาติ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ หากพบผู้ประกันตนประสบอันตราย ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด พร้อมทั้งรีบแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ทราบโดยด่วน เพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่อไป
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นได้ในกรณีประสบอันตราย ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น โดยต้องมีเหตุผลอันสมควร คือ ประสบอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือมีอาการของโรคที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิต หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเป็นการด่วน ส่วนในกรณีผู้ประกันตนประสบเหตุจนหมดสติ ไม่รู้สึกตัวขอให้ญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นำตัวผู้ประกันตนส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด ให้อยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที และข้อควรปฏิบัติอย่างยิ่งเมื่อผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่น คือ ให้ญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรีบแจ้งให้โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ทราบโดยด่วน เพื่อจะได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยจะนับตั้งแต่เวลาที่โรงพยาบาลได้รับแจ้งไปจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งให้โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ทราบ สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายใน 3 วัน (72 ชั่วโมง) ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด
ทั้งนี้ ถ้าผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายไปก่อน และเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ในอัตราที่กำหนด ดังนี้
- รักษาในโรงพยาบาลของรัฐ กรณีประสบอันตรายทั้งที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในสามารถขอเบิกค่ารักษาคืนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถขอเบิกค่ารักษาคืนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี คือ ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น หากเป็นผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้นค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
- รักษาในโรงพยาบาลของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินเบิกคืนได้ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถาม สายด่วน 1506 หรือ www.sso.go.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์/โทรสาร 0 2956 2534 www.sso.go.th