กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สวทช.
โครงการ iTAP(สวทช.) จุดประกายความคิดเอกชนใช้ไม้อย่างคุ้มค่า พร้อมหนุนการ ‘พัฒนาเตาอบไม้จากพลังงานแสงอาทิตย์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมูลค่าสินค้าจากเศษไม้วงกบ’ เพิ่มทักษะการอบไม้ที่ได้มาตรฐาน แก่ บ. ดีโก้ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ลดปัญหาไม้บิดง้อ และเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ไม้ของไทย
‘เพราะ“ไม้” ยังคงเป็นที่ต้องการ เพราะ เป็นวัสดุชนิดเดียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นทรัพยากรธรรมชาติชนิดเดียวที่สามารถปลูกทดแทนได้ ที่สำคัญยังเป็นวัสดุชนิดเดียวที่ใช้พลังงานในการแปรรูปน้อยที่สุดในบรรดาวัตถุดิบชนิดอื่น’ จากความเชื่อดังกล่าวได้จุดประกายให้บริษัท ดีโก้ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย วงกบ บานประตู และหน้าต่างไม้จากไม้เนื้อแข็ง เร่งพัฒนาตนเอง แทนที่จะถอดใจและปิดตัวลงเหมือนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงอยู่ในขณะนี้
นางจุไรรัตน์ ชัยพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดีโก้ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ผลิตจากไม้เนื้อแข็ง อาทิ ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ตะเคียงทอง ไม้มะค่า และไม้สัก เป็นต้น ซึ่งเดิมลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นกลุ่มโครงการบ้านจัดสรร และผู้รับเหมาะโครงการ อาคารสูงรายใหญ่ แต่เมื่อสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มโครงการบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทฯ หันมาปรับปรุงพัฒนาคุณภาพและเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มในกลุ่มตลาดคอนโดมิเนียม หรือ อาคารสูง ที่กำลังขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัญหาที่บริษัทฯ ประสบอยู่คือ เรื่องของไม้บิดตัว และโกง งอ หลังการส่งมอบงาน อันเป็นผลมาจากการอบไม้ที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะไม้ที่ส่งเข้าโรงงานอบไม้ มักมีปัญหาความชื้นของไม้ไม่ได้มาตรฐานแต่เพราะความไม่รู้และไม่เคยให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของความชื้น การอบไม้ และเตาอบที่ถูกต้องของผู้ผลิต จึงนำไม้ที่ยังไม่แห้งดังกล่าวมาผลิต ทำให้เกิดความเสียหาย ลูกค้าหรือผู้ใช้หลายรายเกิดความเบื่อหน่ายในการใช้ไม้ และหันไปใช้วัสดุอื่นแทน ปัญหาดังกล่าวจึงจุดประกายให้บริษัท ดีโก้ ฯ นำกลับมาพัฒนาตัวเอง
โดยบริษัทฯ ได้ พัฒนาเตาอบไม้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ขึ้นใช้เอง ลดปัญหาความชื้นของไม้ที่ไม่ได้มาตรฐาน ลดตำหนิของไม้หลังการอบ เพิ่มประสิทธิภาพการอบไม้ และสามารถควบคุมความชื้นของไม้ได้ตามต้องการ พร้อมกับได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเศษไม้วงกบทิ้งมาพัฒนาเพิ่มมูลค่า โดยใช้ประโยชน์จากการต่อและอัดประสานเศษไม้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า การ join ไม้ อาทิ วงกบประตู , หน้าต่าง , ลูกนอน หรือ พื้นบันได โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ลูกกรงบันได ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีและมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ช่วยแก้ปัญหาเศษไม้เหลือทิ้งซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่เดิมต้องขายเป็นเศษฟื้นในราคาถูกๆ และยังช่วยเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทฯ เพิ่มขึ้นถึง 25% จากเดิมที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 10% ที่สำคัญ ยังถือเป็นรายแรกของไทยที่ผลิตไม้ join วงกบจากไม้เนื้อแข็ง
นางจุไรรัตน์ กล่าวว่า “เมื่อบริษัทฯ มีแนวคิดที่จะปรับปรุงคุณภาพสินค้า แต่ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร โชคดีที่ได้รู้จักกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยบริษัทฯ ได้เข้าร่วมอบรมสัมมนาเกี่ยวกับการอบไม้ กับทางโครงการฯ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความรู้และหันมาตระหนักเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพราะเตาอบ ถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ไม้แห้ง ลดปัญหาการบิดงอ แต่ที่ผ่านมาการผลิตวงกบบานประตู และหน้าต่างไม้ของไทย ไม่ได้ผ่านการอบ ขณะที่การผลิตไม้วงกบทั่วโลกมีการอบไล่ความชื้นกัน จึงทำให้ไม้ของไทยมีปัญหา เพราะมีความชื้นอยู่มาก กลายเป็นความน่าเบื่อหน่ายของการใช้ไม้ของคนไทย”
สำหรับการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ไม้ของบริษัทฯ นั้น ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการ iTAP ในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปเป็นที่ปรึกษา และแนะนำการพัฒนาเตาอบจากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเศษไม้วงกบ และให้ความรู้เกี่ยวกับค่าความชื้นไม้แต่ละชนิด พร้อมแนะนำเทคนิคในการอบไม้ที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มทักษะการผลิตให้กับบุคลากรของบริษัทฯ
นางจุไรรัตน์ กล่าวว่า “ เนื่องจากโรงงานของเราตั้งอยู่ในเขตชุมชน การพัฒนาเตาอบพลังงานแสงอาทิตย์ จึงช่วยเราได้มาก เพราะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อชุมชน อีกทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก และยังมีความยืดหยุ่นในการทำงาน มีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้นกว่าการจ้างโรงงานอบไม้ข้างนอก ที่สำคัญ สามารถควบคุมค่าความชื้นของไม้ได้ตามที่ต้องการ ”
โดยเตาอบไม้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่บริษัทพัฒนาขึ้น มีขนาด 3 x 7 x 7 เมตร หรือ 49 ตร.เมตร สามารถจุไม้ได้คราวละประมาณ 400 คิวบิกฟุต ใช้ระยะเวลาในการอบไม้ไม่ต่ำกว่า 20 วัน เพื่อให้ความชื้นในเนื้อไม้ลดลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 15 % ของความชื้นไม้ ถึงจะได้ไม้ที่มีคุณภาพ เพราะไม้ที่บริษัทนำมาใช้งานจะมีขนาดใหญ่และหนา จึงต้องใช้เวลานานในการอบ
นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีความสนใจที่จะต่อยอดการใช้เทคโนโลยีจากระบบการอบด้วยวิธีธรรมดาไปเป็นการอบด้วยระบบ Heat Treatment ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่จะเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของไม้ราคาถูกให้มีคุณสมบัติที่ดี และขายได้ในราคาแพง ปัจจุบันทั่วโลกมีใช้กันอยู่เพียง 17 เครื่องเท่านั้น แต่เนื่องจากเครื่องดังกล่าวมีราคาแพง จึงอยู่ระหว่างหาผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนสำหรับการทำธุรกิจด้านนี้ และยังมีแผนที่จะพยายามหาระบบมาตรฐานเข้ามารองรับสินค้า เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากขึ้น อาทิ มาตรฐาน มอก. เรื่องบานประตู และหน้าต่างไม้ เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net