มทส. เร่งสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ - นักวิจัยรับการพัฒนาเทคโนโลยี SMEs อีสานล่าง

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 18, 2006 09:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--สวทช.
ม.เทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช.
จัดสัมมนาระดมทรัพยากรบุคคลจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ iTAP รองรับความต้องการในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของภาคอุตสาหกรรม SMEs อีสานล่างแข่งตลาดโลก
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดสัมมนา " ผู้เชี่ยวชาญกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)" ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา โดยในการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ในเรื่องการสนับสนุน และ คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่บุคลากรและคณาจารย์ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับ ซึ่งการจัดงานดังกล่าว ได้รับความสนใจจากผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีสานล่างเข้าร่วมกว่า 70 คน
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) และผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( Industrial Technology Assistance Program หรือ iTAP ) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชน และเป็นโครงการที่สนับสนุนการรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจ (Industrial Cluster) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมไทย และการประยุกต์ใช้งานวิจัยในภาคเอกชนให้เกิดนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันของธุรกิจในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีเครือข่าย iTAP ทั่วภูมิภาคแล้ว 7 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยี SMEs ไทย ที่ผ่านมาiTAP สามารถช่วย SMEsไปแล้วกว่า 1,441 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนถึงร้อยละ 48
“ เนื่องจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฎ หรือวิทยาลัยเทคนิคเอกชน เป็นแหล่งความรู้ที่มีบุคลากรทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หรือ วิศกร ตลอดจนเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีของ SMEsไทยได้ โดยเครือข่าย iTAPจะเป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงในการนำแหล่งความรู้เข้าไปให้การช่วยเหลือ และการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการในสถาบันการศึกษา กับผู้ประกอบการภายใต้เครือข่าย iTAP ของ สวทช.นั้น จะช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะ ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น และยกระดับขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมที่นำการวิจัยและพัฒนาเข้มข้นมาใช้ต่อไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยได้ในอนาคต ” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบเค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวในงานสัมมนาว่า มทส.ในฐานะเป็นเครือข่ายภูมิภาค 1 ใน 7 แห่งของโครงการ iTAP โดยมีเขตพื้นที่รับผิดชอบในภาคอีสานตอนล่าง 8 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี และ อำนาจเจริญ ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในพื้นที่ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร , อุตสาหกรรมสิ่งทอ , อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ , อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่จะเข้ามาขอรับการสนับสนุนในโครงการ iTAP
“ จากที่ได้มีการประเมินความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เมื่อปี 2542-2543 พบว่า ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่มาก อันเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการขาดแคลนบุคลากรที่จะรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง (Technologytransfer)ระดับวิศวกร และวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ในฐานะที่เป็นบุคลากรของสถาบันการศึกษา จึงควรเข้ามามีบทบาทในการเป็นที่พึ่งของสังคมในเรื่องนี้ได้” อธิการบดี มทส. กล่าว
ผช.ดร.ฉัตรชัย โชติษฐยางกูร ผู้อำนวยการเทคโนธานี และผู้จัดการเครือข่ายโครงการ iTAP มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ มีบริษัทให้ความสนใจที่จะเข้ารับการสนับสนุนจากเครือข่าย iTAP ทั้งสิ้นจำนวน 30 ราย โดยทางเครือข่ายฯได้จัดผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้การวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นแล้วประมาณ 12 ราย อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุน 7 ราย และ กำลังดำเนินโครงการ 1 ราย เป็นอุตสาหกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์นมและไอศครีม โดยเครือข่ายiTAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นที่ปรึกษาแก่บริษัทเรียบร้อยแล้ว เพื่อแนะนำเทคนิคและวิธีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ไอศครีมจากนมสด คาดว่า โครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
ผช.ดร.ฉัตรชัย กล่าวว่า "ปัญหาของผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ปัญหาเรื่องของประสิทธิภาพการผลิต ปัญหาเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ ปัญหาการใช้ทรัพยากร และ ปัญหาเรื่องของการใช้พลังงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของต้นทุนที่ต้องการลดภาระลดต้นทุนการผลิตลง หรือ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการดังกล่าว จึงถือเป็นหน้าที่ของบุคลากร คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยในพื้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น เครือข่ายโครงการ iTAP-มทส. จึงถือเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคการผลิต และเป็นศูนย์กลางที่จะสร้างความเชื่อมโยงความต้องการขอภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างกับความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในที่สุด”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ