วิทยาศาสตร์ในนิทาน...คมความคิดจินตนาการจากผลกระทบภาวะโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Monday November 30, 2009 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--วว. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรม คุยกัน ..ฉันท์วิทย์ สัญจร ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ในนิทาน” โดยมี ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก รองผู้ว่าการบริหาร วว. และนางสาวปภาวี เล็กสกุลดิลก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนโยธินบูรณะ ภาคภาษาอังกฤษ ผู้ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดการเขียนเรียงความระดับเยาวชน “ Junior IMPAC Dublin Literary Award for Thailand ” ในหัวข้อ “Once Upon a Time” (การเขียนนิทานวิทยาศาสตร์) และได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน International IMPAC Dublin Literary Award ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เป็นวิทยากรรับเชิญ ร่วมให้ความรู้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ณ ร้านทรู คอฟฟี่ ชั้น 2 สาขาสยามสแควร์ ซอย 3 ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก กล่าวถึงเทคนิคในการเลี้ยงลูกให้คิดเป็นวิทยาศาสตร์ว่า ครอบครัวจะให้ลูกมีความคิดเป็นของตนเอง มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในครอบครัว สนับสนุนในสิ่งที่ลูกอยากจะทำบนพื้นฐานของเหตุและผลที่ถูกต้อง ให้อิสระในความคิด นอกจากนั้นจะให้ความสำคัญในการศึกษาหาความรู้ในวันว่าง ด้วยการไปชมพิพิธภัณฑ์ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความรักและทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เกิดความคิดที่หลากหลาย สามารถเชื่อมโยงความคิด ความรู้ได้อย่างเป็นระบบ “ครอบครัวของเราพ่อแม่ลูกสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ทุกเรื่อง ให้อิสระทางความคิด ให้ลูกได้ทำในสิ่งที่อยากทำแต่ต้องมีเหตุมีผล วันว่างมักจะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เกิดความคิดที่หลากหลาย เปิดโลกทัศน์ ลูกสาวทั้งสองคนจะเรียนสายวิทยาศาสตร์ในช่วงมัธยม ซึ่งก็ไม่ได้บังคับเพียงแต่ให้คำชี้แนะว่าหากเรียนสายนี้ เมื่อถึงระดับอุดมศึกษาเขาสามารถเรียนต่อในแขนงวิชาอื่นๆ ได้หลากหลาย เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของแขนงวิชาอื่นๆอยู่แล้ว ในการเขียนนิทานวิทยาศาสตร์ที่ลูกสาวได้รับรางวัลนั้น เขาเป็นคนคิดโครงเรื่องเองแล้วนำมาปรึกษาพ่อแม่ ซึ่งเราก็ให้คำชี้แนะและให้กำลังใจ...” รองผู้ว่าการบริหาร วว. กล่าว นางสาวปภาวี เล็กสกุลดิลก กล่าวว่า เหตุผลที่ส่งผลงานเข้าประกวดเนื่องจากชอบอ่านหนังสือนิทานเยาวชนอยู่แล้ว เช่น แฮรีพอร์ตเตอร์ แนนซี่ดรู ตามกติกาของโครงการดังกล่าวได้กำหนดหัวข้อมาให้ประเทศละ 1 หัวข้อไม่ซ้ำกัน สำหรับประเทศไทยได้กำหนดหัวข้อ “Once Upon a Time” หรือ “ กาลครั้งหนึ่ง...” สำหรับการตัดสินผลงานนั้นได้คัดผู้เข้ารอบของแต่ละภาค ซึ่งมีประมาณ 20 คน เข้าร่วมในงานประกาศรางวัล “…เพราะเรียนสายวิทยาศาสตร์ และอยากให้เนื้อเรื่องแปลก ให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกทางด้านอารมณ์ตามไปด้วย ผลงานที่ส่งประกวดจึงเขียนออกมาในแนวสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน โดยนำเสนอเหตุการณ์ภายหลังที่เกิดโลกร้อน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่นที่มุ่งประเด็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อนและจบแบบมีความสุข ไม่เศร้าเหมือนของตนเอง ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นระยะหลังจะชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนหักมุมก็เลยเขียนผลงานออกมาในลักษณะนี้...” นางสาวปภาวี เล็กสกุลดิลก กล่าว สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนผลงานเข้าประกวดนั้น นางสาวปภาวีกล่าวว่า อยากจะทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้การสื่อสารในรูปแบบนิทาน จะช่วยให้เกิดความตระหนักได้มากกว่าหนังสือวิชาการ ทำให้คนเกิดความสนใจใคร่รู้มากกว่า เนื่องจากมีความบันเทิงแทรกอยู่ในเนื้อหาที่นำเสนอ อีกทั้งนิทานยังเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ทำให้คนเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไรบ้าง “สิ่งที่ประทับใจในการเข้าร่วมงาน International IMPAC Dublin Literary Award ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ มีหลายอย่าง เขาให้โอกาสเราเยอะมาก ได้นั่งทานข้าวกับนักเขียนดังๆ หลายประเทศ ได้ฟังประสบการณ์จากนักเขียนหลายท่าน ได้นั่งร่วมโต๊ะกับนักเขียนเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย สาธารณรัฐเช็ก แล้วมีท่านทูตจากประเทศต่างเข้าร่วมงานด้วย เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับงานเขียนและนักเขียนมาก...ที่สำคัญร้านหนังสือของเขามีหนังสือลดราคาเยอะมาก ไม่เหมือนบ้านเราที่ลดราคาแล้วก็ยังแพงอยู่โดยเฉพาะหนังสือต่างประเทศ” นางสาวปภาวี เล็กสกุลดิลก ฝากข้อคิดสำหรับนักเขียนรุ่นเยาว์ว่า ผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดในปีต่อไปสามารถทดลองเขียนและส่งผลงานเข้าประกวดได้ โดยไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้หรือไม่ได้รับรางวัล โดยส่วนตัวมีความคิดว่ากรรมการตัดสินจะมองที่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนมากกว่าเรื่องไวยากรณ์ การเขียนผิดเขียนถูก เพราะความคิดสร้างสรรค์จะทำให้ผลงานเขียนมีความแปลก โดดเด่น ซึ่งทุกๆคนสามารถฝึกฝนได้ด้วยการอ่านหนังสือให้มากๆ มีความหลากหลาย โดยส่วนตัวจะอ่านหนังสือภาษาอังกฤษหรือแปลจากต่างประเทศ หนังสือที่แต่งโดยคนไทยจริงๆ นั้นมีน้อย อาจเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่ได้สนับสนุนด้านนี้จริงจังเหมือนประเทศไอร์แลนด์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ