กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท1
คุณแม่ป้องกันอย่างไร ไม่ให้หวัดลูกน้อยติดทุกคนในบ้าน โดย นพ. วิชัย เดชะทัตตานนท์ ผู้อำนวยการด้านสร้างเสริมสุขภาพ ประกันสังคม โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท1 คุณแม่ป้องกันอย่างไร ไม่ให้หวัดลูกน้อยติดทุกคนในบ้าน
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง ความชื้น และอุณหภูมิในอากาศส่งผลต่อการแพร่กระจายของทั้งเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคหวัด หรือโรคการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ( Upper Respiratory Tract Infection ) ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย และมีไวรัสหลายชนิดที่ทำให้เป็นโรคหวัด
นพ. วิชัย เดชะทัตตานนท์ ผู้อำนวยการด้านสร้างเสริมสุขภาพ ประกันสังคม โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท1 กล่าวว่า “ เด็กเล็ก ๆ ที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ มักมีปัญหาเรื่องเป็นหวัดบ่อย ๆ ประมาณปีละ 3 — 6 ครั้ง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ที่ต้องไปเนอร์เซอรี่ และโรงเรียนอนุบาลที่ต้องกิน นอน เล่นกับเพื่อน ๆ อย่างใกล้ชิด ในห้องเรียนที่อากาศเป็นสถานที่ปิด และอากาศไม่ถ่ายเท เด็กเล็กๆ มักไม่ค่อยระวังตัวเองที่จะไปติดหวัดจากเพื่อน และเพื่อน ๆ ที่อาจเอาหวัดมาสู่ตัวเอง เพราะการเล่นกันของเด็ก ๆ ที่เล่นกันอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา การไอจามของเพื่อน ๆ ที่ไม่ค่อยปิดปาก ปิดจมูก ทำให้ติดหวัดได้ง่ายจากการหายใจ และสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ( Droplet )
ลูกน้อยเป็นหวัด ทำไมติดทุกคนถึงติดหวัดไปด้วย ?
เมื่อลูกตัวน้อยเป็นหวัด แทบทุกคนในบ้านมักจะเป็นหวัดไปตาม ๆ กัน เพราะ
1. ไอ จาม ไม่ระมัดระวัง เวลาไอ จาม ลูกน้อยมักไม่ปิดปาก จมูก ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้มากกว่าผู้ใหญ่ และเวลาเด็กเป็นหวัด พ่อแม่มักไม่ใส่ผ้าปิดปากให้เพราะกลัวว่าลูกจะอึดอัด
2. มักเอามือที่เลอะน้ำมูก น้ำลาย ป้ายตามจุดต่าง ๆ เด็ก ๆ มักเอามือที่เลอะละอองน้ำมูก น้ำลาย ไปจับ ป้าย ตามลูกบิดประตู สวิทซ์ไฟ รีโมทแอร์ ทีวี ก๊อกน้ำ ฯลฯ
3. การต้องถูกดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กเล็ก ๆ มักต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ กล่อมนอน การเล่นที่อยู่ระยะใกล้ชิดเกินกว่า 2 เมตร เวลาไอเด็กก็ไม่ค่อยปิดปาก เลยทำให้แพร่กระจายได้ง่าย
4. การพูดคุย สัมผัสที่ใกล้ชิด เวลาผู้ใหญ่คุย หรือเล่นกับเด็ก มักจะใกล้ชิดกันมาก มีการกอด หอม คุยกันใกล้ ๆ เวลาพูดคุยก็มักจะคุยกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคหวัดจากเด็ก
5. ภาวะภูมิต้านทาน(ImmuneSystem)ในเด็กยังต่ำ เมื่อรับเชื้อโรคหวัดแล้วเกิดการเป็นโรคหวัดขึ้นได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
คุณแม่มีส่วนช่วยป้องกันอย่างไรไม่ให้ทุกคนติดหวัดจากลูกน้อย
แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักคือ
1. ไม่รับเชื้อเพิ่ม
? แยกห้องนอนลูกที่เป็นหวัดออกจากคนอื่นๆในบ้านและพยายามให้เด็กอยู่ในบริเวณห้องของตัวเองให้มากที่สุด
? ให้ทุกคนในบ้านใส่ผ้าปิดปากเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก
? ล้างมือทุกครั้งที่ต้องไปสัมผัสกับเด็กที่ไม่สบาย และพยายามล้างมือบ่อย ๆ
? ไม่ใช้ของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ เสื้อผ้า
? พยายามให้อากาศแถวนั้นถ่ายเทได้ดี ด้วยการเปิดหน้าต่าง หรือเปิดพัดลมเพื่อไล่อากาศเดิม ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดอากาศหมุนเวียนในห้อง
2. เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย
? ไม่ควรนอนดึก นอนให้ได้ประมาณ 6 — 8 ชั่วโมง หรือถ้าเริ่มมีอาการหวัด ให้พักผ่อนให้เพียงพอ
? ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ( Aerobic Exercise ) ให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาทีเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย
? การรับประทานอาหาร
- ใช้ช้อนกลาง หรือแยกจานอาหารให้เด็กทานโดยเฉพาะ
- ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ควรทานผลไม้ และผักสดเยอะ ๆ