กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) (SCB) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ส่วนธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ยังคงมีแนวโน้มอันดับเครดิตสากลเป็นลบ รายละเอียดของอันดับเครดิตอื่นแสดงอยู่ด้านล่าง
การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธนาคารทั้ง 4 แห่งในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 แม้ว่า GDP ของประเทศไทยจะติดลบ อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ (ROA) รวมของธนาคารทั้ง 4 แห่ง ลดลงเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.26% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 จาก 1.32% ในปี 2551 ซึ่งสูงกว่าระดับที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นปี เนื่องจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อได้ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่อาจเพิ่มขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่จะตามมาภายหลัง รวมทั้งสินเชื่อปรับโครงสร้างที่มีโอกาสกลับมาเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารทั้ง 4 แห่ง น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกัน TMB ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอและการลดลงอย่างมากของสินเชื่อ ธนาคารมีกำไรสุทธิเพียงเล็กน้อยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552
การลดลงของคุณภาพสินทรัพย์สำหรับธนาคารทั้ง 4 แห่ง อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายรวมของ 4 ธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จาก 5.5% ณ สิ้นปี 2551 อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากยอดสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2551 ซึ่งอาจทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ และอาจส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวสูงในปีหน้า เนื่องจากอาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง กว่าจะเห็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นที่มีต่อคุณภาพสินทรัพย์ TMB มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 14.9 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ TMB ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 16% เนื่องจากสินเชื่อของ TMB ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องอีก 14.8% จากสิ้นปี 2551 นอกจากนั้น TMB ยังคงมีสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประมาณ 14% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้เกณฑ์การจัดชั้นที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารหลังจาก ING ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคาร สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยความเสี่ยงในด้านธุรกรรมกับบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับดูไบโดยทั่วไปอยู่ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ
ผลจากการประเมินสถานะความแข็งแกร่งทางการเงินแสดงให้เห็นว่า BBL SCB KBANK และ BAY สามารถรองรับผลกระทบหากเกิดกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวลงอย่างรุนแรง (High Stress Scenario) เนื่องจากธนาคารดังกล่าวมีอัตราส่วนกำไรที่แข็งแกร่ง ระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญที่อยู่ในระดับสูง และเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นผลกระทบต่อเงินกองทุนจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก แต่สำหรับ TMB หากเกิดกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวลงอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้เงินกองทุนของธนาคารลดลงอย่างมาก เนื่องจากธนาคารมีอัตราส่วนกำไรที่อ่อนแอ และอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารอื่น ในขณะที่ธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับสูง
ยอดสินเชื่อรวมของ BBL SCB KBANK และ BAY ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ได้ลดลงมากกว่า 3% ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อจะมีการเติบโตอีกครั้งในปี 2553 อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตดังกล่าวคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ อัตราส่วนกำไรดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เฉลี่ยลดลงเป็น 3.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 จาก 3.9% ในปี 2551 เนื่องจากอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ต่ำลงและการลดลงของสินเชื่อ SCB KBANK และ BBL ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งที่สุด โดยกำไรสุทธิของทั้ง 3 ธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 ปรับตัวลดลงไม่มากนัก ในขณะที่อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่สุด ในขณะเดียวกัน BAY ก็มีรายได้และอัตราส่วนกำไรที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อสินทรัพย์ประเภทสินเชื่อรายย่อย ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นจากผู้ถือหุ้น GE Capital อย่างไรก็ตาม BAY ยังคงมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น เนื่องจากอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารอื่น
สภาพคล่องของธนาคารทั้ง 4 แห่ง ยังอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมอยู่ที่ประมาณ 92% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 นอกจากนี้ธนาคารทั้ง 4 แห่งนี้ ยังมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 12.2% และ 16.1% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ซึ่งน่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจอ่อนแอลง หากภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องใน 1 — 2 ปีข้างหน้า
ธนาคารกรุงเทพ (BBL):
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ / ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘C’
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB):
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ / ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘C’
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK):
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ / ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F2’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘C’
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY):
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB’ / ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F3’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘C’
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับเครดิตที่ ‘3’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับเครดิตที่ ‘BB+’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘AA-(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’
ธนาคารทหารไทย:
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR คงอันดับเครดิตที่ ‘BBB-’ / แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F3’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ ‘C/D’
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘3’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘BB+’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุน
ชั้นที่ 1 (Tier 1 hybrid) คงอันดับเครดิตที่ ‘B’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับเครดิตที่ ‘BB+’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘A(tha)’
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดตามจากรายงานที่ได้เผยแพร่ไว้ก่อนหน้านี้ เรื่อง “Thai Banks: 9M09 Results and Outlook — Strong Buffer to Absorb Downside Risks in 2010” ที่ www.fitchratings.com
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ; นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์; Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 99.99% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ผู้ออกตราสารไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดอันดับเครดิต นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของบริษัทเท่านั้น