กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--ปตท.
“วิศวกรเคมี” ... กลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่เป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยผลิตวัตถุดิบ อย่างเม็ดพลาสติก วัสดุสังเคราะห์หรือเคมีภัณฑ์ต่างๆ ให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมายในประเทศ ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว ชาววิศวกรเคมีเค้าทำงานอะไรกัน แตกต่างหรือเหมือนกับนักวิทยาศาสตร์เคมีหรือไม่
เพื่อให้เยาวชนในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ รู้จักและเข้าใจอาชีพวิศวกรเคมีในโรงงานมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอีกแรงบันดาลใจให้น้องๆ เหล่านี้ มีเป้าหมายการเรียนต่อระดับปริญญาตรีในสายนี้ เพื่อกลับมาทำงานในบ้านเกิด นำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่นของตนมากขึ้น กลุ่ม ปตท. และภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันจัดฐานแนะนำการเรียนในภาควิชาวิศวกรรมเคมี ในกิจกรรมนิทรรศการสัญจร...จากปิโตรเลียม สู่ปิโตรเคมี ปี52” ที่กลุ่ม ปตท.จัดขึ้นใน 7 โรงเรียนของจังหวัดระยอง โดยมีน้องๆ ชั้นมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์กว่า 700 คนร่วมกิจกรรมระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมคณาจารย์และนิสิตปริญญาโทและเอกภาควิชาวิศวกรรมเคมี มาบอกเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยตัวเอง ร่วมกับกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สนุกสนาน
ดร. อัครวัต ศิริสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรและผู้ออกแบบการทดลองในกิจกรรมนี้ ช่วยอธิบายความแตกต่างของนักวิศวกรเคมีกับนักวิทยาศาสตร์เคมีให้ฟังว่า นักวิศวกรเคมี ทำหน้าที่ควบคุมและออกแบบกระบวนการ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในโรงงาน ส่วนนักวิทยาศาสตร์เคมีเน้นทำการทดลองเพื่อให้ได้ปฏิกิริยาเคมีและการสังเคราะห์สารเคมีที่ต้องการมากกว่า
หัวใจหลักของการทำงานด้านวิศวกรรมเคมีมี 2 กระบวนการหลักๆ คือ เครื่องปฏิกรณ์และเครื่องแยกสาร จึงได้จัดการทดลองทั้ง 2 ด้าน โดยเรื่องเครื่องปฎิกรณ์ จัดการทดลองเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยา โดยนำปฎิกิริยาเคมีระหว่างน้ำอัดลมและลูกอมรสมิ้นท์ เพื่อปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำอัดลม และการนำตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี “ไทเทเนียมไดออกไซด์” (Titanium dioxide: TiO2) ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในโรงงาน มาทดลองเป็นตัวอย่าง ส่วนเรื่องการแยกสาร ได้นำเครื่องปั่นน้ำผลไม้ ซึ่งเป็นของใข้ในชีวิตประจำวัน มาเป็นตัวอย่างการเรียนรู้เรื่องการผสมสารละลาย ว่าการออกแบบใบพัด ลักษณะการหมุนหรือปั่นที่เหมาะสม จะช่วยให้สารละลายสามารถผสมกันได้ดีขึ้น ซึ่งการทดลองเหล่านี้ช่วยสร้างความสนุกสนาน ขณะที่น้องๆ ก็ได้เห็นภาพการเรียนรู้ในสายวิชาวิศวกรเคมีง่ายขึ้น“ ดร. อัครวัต กล่าวเพิ่มเติม
ผศ.ดร.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในทีมวิทยากรสำคัญของกิจกรรมนิทรรศการสัญจร ให้ความเห็นว่า
“ นักวิศวกรเคมี มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเมื่อเรียนจบส่วนใหญ่จะเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี การกลั่นน้ำมัน รวมทั้งอุตสาหกรรมกระดาษ หรือการผลิตสารเคมีต่างๆ ซึ่งล้วนอุตสาหกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของไทยมากกว่า 10 แห่ง ที่เปิดสอนด้านวิศวกรรมเคมี เช่นที่ภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาฯ มีสอนทั้งระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี จะเน้นไปทางด้านการประกอบวิชาชีพ ส่วนระดับปริญญาโท — เอก เน้นการวิจัยพื้นฐาน และการประยุกต์วิศวกรรมเคมีหลากหลายสาขา เช่น ด้านวิศวกรรมระบบและการควบคุม,การจัดการของเสีย,ชีวเคมี, ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม, ปฏิกิริยาและเครื่องปฏิกรณ์เคมี ,กระบวนการกลั่นและแยกสาร,พอลิเมอร์ และนาโนเทคโนโลยี“
สำหรับน้องๆ เยาวชนที่มีใจรักและอยากเรียนต่อสายวิศวกรรมเคมี ควรพัฒนาพื้นฐานความรู้ในวิชาเคมีและการคำนวณให้มากๆ ซึ่งการทำงานของนักวิศวกรเคมี จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิศวกรรมเคมีมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มากที่สุด โดยใช้พลังงานน้อยที่สุด ที่สำคัญ ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมน้อยที่สุด ซึ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญในการทำงานของนักวิศวกรเคมี ที่น้องๆ จะได้สัมผัสกันในอนาคต