กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สถาบันอาหาร
3 องค์กรเศรษฐกิจชี้การค้าอาหารโลกสิ้นปี 2552 จะลดลงร้อยละ 15 เหลือมูลค่าเพียง863,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2551 คาดภาพรวมส่งออกอาหารของไทยสิ้นปี 2552 จะติดลบตามวิกฤติเศรษฐกิจโลก ภาคการผลิตหดตัวลงร้อยละ 4.5 มีมูลค่าการส่งออก 737,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 5.2 แนวโน้มส่งออกปี 2553 คาดค่อยๆฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก จะมีมูลค่า 793.000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เพราะสินค้าไทยมีมาตรฐานการผลิตคุณภาพและความปลอดภัย ทั้งพัฒนารูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ พร้อมรับอานิสงส์จากข้อตกลงอาฟตา แต่ต้องเผชิญมาตรการกีดกันการค้าด้านสิ่งแวดล้อมและความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจที่อาจเติบโตช้า ชี้ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ดูไบ ทำยอดส่งออกอาหารไทย 10 เดือนแรกปี 52 ลดลงร้อยละ 9.5 เหลือมูลค่า 5,618 ล้านบาท ส่วนร้านอาหารไทยในดูไบยอดขายลดลงร้อยละ 30
2 ธันวาคม 2552/การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
สำหรับการส่งออกอาหารของไทยในปี 2552 คาดว่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 737,000 ล้านบาท โดยจะหดตัวลงร้อยละ 5.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่หดตัวลงตาม
ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในปีนี้ที่หดตัวลงถือว่าไม่ได้ย่ำแย่นัก แม้มูลค่าส่งออกจะปรับตัวลดลงแต่ผู้ผลิตเองก็ได้รับประโยชน์จากการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตต่างๆ เช่นกัน ทำให้ตลอดปีที่ผ่านมาโดยรวมแล้วรายได้จากการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่หดตัวลงจึงถูกชดเชยด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลง กำไรที่ผู้ประกอบการได้รับจึงเพิ่มสูงขึ้น
สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าอาหารโลกที่มีแนวโน้มหดตัวลง โดยสถาบันอาหารคาดว่าการค้าอาหารโลกในปีนี้จะมีมูลค่าเพียง 863,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2551 ส่วนในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 975,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับปีนี้
ด้านแนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2553 คาดว่าดัชนีผลผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.3 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ขณะที่แนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่า 793,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีนี้ สินค้าส่งออกหลักที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ไก่และสัตว์ปีก ทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป ปลากระป๋องและปลาแปรรูป ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรุงรส ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ อาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่การส่งออกอาจปรับตัวลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์กุ้ง ปลาหมึก และผลไม้สด โดยในระยะสั้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งหลายประเทศในเอเชียซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและ คู่ค้าประสบภัยธรรมชาติ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนในระยะยาวที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การที่ผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ สินค้าอาหารของไทยได้รับการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัยมาโดยตลอด ประกอบกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าการลงทุนภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าทั้งในระดับพหุภาคี (WTO, AFTA) และทวิภาคีในรูปของ FTA กับประเทศต่างๆ จะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตสูงขึ้น
“ผลจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ข้อตกลงอาฟตาที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีหน้านี้ แม้จะส่งผลดีต่อภาพรวมทางการค้าของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็มีผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งผู้บริโภค ซึ่งภาครัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการตลาดเพื่อยกระดับการแข่งขันในสูงขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าให้เข้มงวด เช่น การกำหนดคุณสมบัติและผู้มีสิทธินำเข้า การตรวจสอบแหล่ง
กำเนิดสินค้า การกำหนดมาตรฐานสินค้า ทั้งควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการเลือกบริโภคสินค้า โดยให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพสินค้าควบคู่ไปกับราคาด้วย” นายอมร กล่าว
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารของไทยในปีหน้ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างเชื่องช้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ขณะที่มาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ๆ (NTMs / NTBs) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก และคาดว่าจะมีการนำมาบังคับใช้อย่างกว้างขวาง ถือเป็นอุปสรรคทางการค้าที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
นายอมร กล่าวต่อว่า “สำหรับผลกระทบด้านการส่งออกอาหารไทยภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ดูไบ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่คนไทยเข้าไปลงทุน (ปัจจุบันร้านอาหารไทยในยูเออี มีราว 42 ร้าน ส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ) พบว่า ได้รับผลกระทบจากยอดขายลดลงประมาณร้อยละ 30 เนื่องจากผู้บริโภคชาวเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักถูกเลิกจ้างและถูกส่งกลับประเทศเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังยูเออี ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 นี้ โดยมีมูลค่าเพียง 5,618 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยในช่วงก่อนหน้านี้ 5-6 ปีที่ผ่านมา การส่งออกอาหารของไทยไปยูเออีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าส่งออกสูงสุดในปี 2551 ประมาณ 7,200 ล้านบาท ปัจจุบันประเทศยูเออีเป็นตลาดอาหารอันดับที่ 30 ของไทย และเป็นหนึ่งในตลาดอาหารที่เป็นเป้าหมายของไทยในอนาคต โดยมีผู้ซื้อหลักคือกลุ่มคนงานจากเอเชียที่มีจำนวนกว่า 3 ล้านคน หรือ 60% ของประชากรกว่า 5 ล้านคนในยูเออี
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยูเออี ที่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤติเศรษฐกิจในดูไบครั้งนี้ ได้แก่ ข้าว ซึ่งเป็นสินค้าหลักในตลาดยูเออี โดยมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของอาหารส่งออกทั้งหมดที่ไปยูเออี รองลงมาคือ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง เบียร์ เป็นต้น”