ความคืบหน้ารายชื่อสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติ ตามมาตรการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป

ข่าวทั่วไป Thursday December 3, 2009 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--คต. ความคืบหน้ารายชื่อสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (European Union Emission Trading Scheme : EU ETS) และผลการประชุมระดับผู้นำระหว่างสหภาพยุโรป-สหรัฐอเมริกา (EU-US) และ EU-อินเดีย นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ได้มีการประชุมระดับผู้นำ EU-US ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่จะร่วมมือกันกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงร้อยละ 50 ภายในปี 2593 โดย EU ไม่ได้กล่าวถึงเป้าหมายระยะกลางที่จะพยายามกดดันและผลักดันประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ อินเดีย และจีน ให้ลดการปล่อย CO2 นอกจากนี้ที่ประชุมจะระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และส่งเสริมการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งจะส่งเสริมและพัฒนาขยายตลาดซื้อขาย CO2โดยดำเนินการตามหลักมาตรการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap and Trade or Emission Trading) ของ EU และ US ในกรอบของการเจรจาความตกลงสิ่งแวดล้อมที่กรุงโคเปนเฮเกน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม EU ได้รับรองร่างการกำหนดสาขาอุตสาหกรรมและสาขาย่อยจำนวน 164 สาขาที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะการย้ายฐานการผลิต (Carbon Leakage) ภายหลังการปฏิบัติตาม ETS ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวปล่อย CO2 ถึงร้อยละ 77 ของปริมาณการปล่อย CO2 ของอุตสาหกรรมใน EU ทั้งหมด ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพในการปล่อย CO2 สูงสุดเพียงร้อยละ 10 โดยที่ 10 อันดับแรกจะได้รับโควตาให้ปล่อย CO2 ได้ถึงร้อยละ 100 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อย่างไรก็ดีจะมีการทบทวนรายชื่อสาขาอุตสาหกรรมอีกครั้งภายหลังการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคม 2552 นี้ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมระดับผู้นำระหว่าง EU - อินเดียได้ยืนยันตามข้อกำหนดและหลักการของ UNFCCC รวมทั้ง Common but Differentiated Responsibilities and Respective Capabilities โดยมุ่งหวังให้การประชุมที่โคเปนเฮเกนจะสามารถบรรลุข้อตกลงตามเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ในปี 2593 โดยจะใช้ปี 2533 เป็นปีฐาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะจัดเตรียมแผนการลด GHG ที่มีความน่าเชื่อถือพร้อมแผนดำเนินการปรับตัวและข้อเสนอแนวทางการเยียวยาปัญหาดังกล่าวด้วย เพื่อสนับสนุนแผนการลด GHG ให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญของการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเท่าเทียมกันในด้านงบประมาณและเทคโนโลยี ทั้งนี้ EU ให้ข้อสังเกตถึงความล้มเหลวในการผลักดันให้สหรัฐฯ และอินเดียกำหนดเป้าหมายการปล่อย GHG รวมทั้งการโน้มน้าวสหรัฐฯ ให้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการให้เงินทุนช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในช่วงก่อนการประชุม UNFCCC และความล้มเหลวเหล่านี้จะเป็นสาเหตุหลักทำให้การประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนจะไม่สามารถบรรลุผลตามข้อตกลงที่ผูกผันทางกฎหมายได้ แต่อาจเหลือเพียงความตกลงที่มีผลผูกพันทางการเมืองเท่านั้น รายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องดังกล่าวสามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ http:// ec.europa.eu/external_relations/index_en.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ