ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 อย่างไม่เป็นทางการ

ข่าวทั่วไป Thursday December 3, 2009 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 อย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM+3) นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 อย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: Informal AFDM+3) ร่วมกับนายเจ ยูน ชิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังของสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี 1. การประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา รวมทั้งทิศทางนโยบายการเงินและการคลัง และแนวโน้มของเศรษฐกิจในปีระยะต่อไป โดยในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ทั้ง 13 ประเทศ พร้อมทั้งผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 2. ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้ 2.1 ผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา รวมทั้งการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ซึ่งโดยสรุป เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากอานิสงค์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ด้วย 2.2 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้แทนไทย ได้นำเสนอสถานะของเศรษฐกิจไทยว่าได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังของไทย และคาดการณ์ว่าในปี 2552 และปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ -3.0 และร้อยละ +3.3 ตามลำดับ 2.3 ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน+3 อันได้แก่ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (2) การลดหรือยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ ก่อนการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน (3) ความยั่งยืนทางการคลัง (fiscal sustainability) (4) อัตราเงินเฟ้อและราคาทรัพย์สินที่เพิ่มสูงขึ้น (asset bubble) (5) ผลกระทบของทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อการส่งออก (6) ความผันผวนของราคาสินค้าอุปโภคและราคาน้ำมัน (7) การเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้น (capital flow movement) และ (8) ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan) ที่อาจเกิดขึ้นหากขาดการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ดี 2.4 ที่ประชุมเห็นพ้องว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องกลไกความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคในการเสริมสภาพคล่องระยะสั้นระหว่างกันผ่านมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิต (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ตลอดจนการจัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ (Economic Surveillance) จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน+3 ดังกล่าว 3. การประชุม AFDM+3 ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดในช่วงต้นเดือนเมษายน 2553 ณ เมืองนาตรัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วมในการประชุม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ