กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--กระทรวงไอซีที
ครั้งแรกของประเทศ เพื่อหนุนงานวิจัย ต่อยอดผลิตภัณฑ์ ก้าวสู่ผู้ประกอบการใหม่
กระทรวงไอซีที จัดงานประกาศผลรางวัลโครงการประกวดแผนงานวิจัยเพื่อการต่อยอดเชิงธุรกิจ “ICT สร้างไทยเข้มแข็ง” เผยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วม 147 แผนงาน โดยผู้ชนะมาจาก ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อโครงการ “ขุมทรัพย์จากกองขยะ : Change Garbage into Treasure” โดยกระทรวงฯ และพันธมิตรพร้อมสนับสนุนเพื่อต่อยอดเชิงธุรกิจ ระบุ ประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก
นายนิมิต ดำรงรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า “โครงการประกวดแผนงานวิจัยเพื่อการต่อยอดเชิงธุรกิจ “ICT สร้างไทยเข้มแข็ง” ครั้งที่ 1/2009 นี้ เป็นความร่วมมือของกระทรวงฯ กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนในการจัดกิจกรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสิน ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากแขนงต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุทธิภัค จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัลพัฒนา เป็นประธานในการพิจารณาผลงานวิจัย ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีผู้ส่งแผนงานเข้าประกวด 147 แผนงาน โดยผ่านการคัดเลือกมา 20 แผนงาน และนำมาจัดแสดงให้ทุกท่านได้ชมกัน อาทิ เครื่องถ่ายเอกสารโดยไม่ใช้แสง,ขุมทรัพย์จากกองขยะ “Change Garbage into Treasure” ซึ่งผลงานดังกล่าว เป็นผลงานที่ริเริ่มจากประสบการณ์ของนักวิจัย และผลงานดังกล่าวน่าจะเป็นผลงานที่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของกระทรวงฯ ที่ตั้งไว้ คือ เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมนักประดิษฐ์และนักวิจัย ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจดำเนินธุรกิจด้าน ICT ให้มีความคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์ผลงานด้านนวัตกรรมด้าน ICT ที่มีศักยภาพสามารถใช้งานในเชิงธุรกิจและทำตลอดได้จริงในเชิงพาณิชย์ สามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง และสนับสนุนการศึกษาในระดับเยาวชน นักศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจดำเนินธุรกิจด้าน ICT ให้เน้นการทำวิจัยมากกว่าการเข้าชั้นเรียนแบบปกติ เช่นในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมด้าน ICT ที่มีผลต่อการสร้างธุรกิจใหม่ และสร้างฐานความรู้ทางด้านการวิจัยในการศึกษาระดับสูง ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดหน่วยวิจัยเฉพาะทางด้าน ICT เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศได้ในระยะยาว”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2549 ของ 61 ประเทศ โดยสถาบันนานาชาติเพื่อการจัดการ พบว่าค่าใช้จ่ายด้าน R&D ต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่อันดับ 58 ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน โดยในปี 2548 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ของประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 0.24 เท่านั้น สะท้อนว่าการประดิษฐ์คิดค้นด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ของคนไทยยังไม่สูงนัก จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราเพื่อนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
กระทรวงฯ ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่องานวิจัยและพัฒนาทางด้าน ได้นำประเด็นเรื่องการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้าน ICT มาจัดอยู่ในยุทธ์ศาสตร์หลักในการดำเนินงาน ผนวกับรัฐบาลมีนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้กำหนดนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2544-2553 ของประเทศไทย (IT 2010) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรม ICT ไทย สนับสนุนและพัฒนานักวิจัยให้สามารถคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีศักยภาพ สามารถใช้งานในเชิงธุรกิจและทำตลาดได้จริง และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้ “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555” ควบคู่การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว
รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต เข็มทอง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการประกวดแผนงานวิจัยเพื่อการต่อยอดเชิงธุรกิจ “ICT สร้างไทยเข้มแข็ง” ครั้งที่ 1/2009 นี้ เป็นการจัดประกวดแผนงานวิจัยด้านICTในกลุ่มนิสิตนักศึกษา ระดับปริญญาตรี โท เอก นักวิจัย ผู้ประกอบการด้านICT รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจทำธุรกิจด้าน ICT ซึ่งถือเป็นการประกวดแผนงานวิจัยครั้งแรกของประเทศไทย โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการจัดประกวดเพื่อคัดเลือกแผนงานวิจัยที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ได้เปิดรับสมัครเมื่อราวกลางเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยมีแผนงานวิจัยที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 20 แผนงาน ทีมที่ผ่านเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศต้องนำเสนอแผนงานวิจัยต่อหน้าคณะกรรมการตัดสิน และจัดบูธเพื่อแสดงแนวทางการทำธุรกิจ และได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับรางวัลต่างๆ แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 150,000 บาท พร้อมทุนการศึกษาจาก AIS จำนวน 20,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษา 80,000 บาท พร้อม รางวัล พิเศษจาก DTAC โทรศัพท์มือถือ Nokia N79 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทุนการศึกษา 30,000 บาท พร้อมรางวัลพิเศษจาก True โทรศัพท์มือถือรุ่น Nokia E71 รางวัลชมเชย 4 รางวัล ทุนการศึกษาละ 10,000 บาท และรางวัลวิจัยนวัตกรรมยอดเยี่ยม ทุนการศึกษา 10,000 บาท โดยเชื่อว่าผลจากโครงการนี้ จะมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทย และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป