กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--พพ.
พพ. ชี้โพลประชาชนส่วนใหญ่ หนุนรัฐ จัดสรรงบพัฒนาพลังงานทดแทน กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันให้พลังงานทดแทน เป็นเครื่องมือสำคัญฝ่าวิกฤตพลังงาน และสร้างความมั่นคงพลังงานไทย
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พพ. ได้รับทราบผลการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกทม.และปริมณฑลที่มีต่อพลังงานทดแทน จากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต จำนวน 1,016 แบบสอบถาม ซึ่งสามารถสรุปผลความคิดเห็นในหัวข้อที่สำคัญ ๆ ได้ดังนี้
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อปัญหาราคาพลังงานของประเทศไทยว่าปัจจุบันมีความรุนแรงหรือไม่ ประชาชนตอบว่า มีความรุนแรงมาก สูงถึงร้อยละ 67.36 และปานกลางร้อยละ 30.05 ด้านประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เป็นอยู่มากน้อยเพียงไร ประชาชนตอบว่า ได้รับผลกระทบมากร้อยละ 44.56 และได้รับผลกระทบปานกลาง ร้อยละ 50.26 โดยมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ด้านการกำหนดว่าภาครัฐ ควรมีมาตรการหรือ หรือแนวทางส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างไร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ร้อยละ 27.67 รองลงมาได้แก่ ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ร้อยละ 22.28 และภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนพลังงานทดแทนและการผลิตเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ร้อยละ 20.83
นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พพ. ในฐานะหน่วยงานหลักของกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของประชาชนตามโพลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้แผนพลังงานทดแทน 15 ปี ก็ได้กำหนดให้พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งได้มีการระบุรายละเอียดในระดับแผนปฏิบัติการในพัฒนาเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การวิจัยพัฒนาและส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพืชพลังงาน เป็นต้น ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะสามารถทำให้พลังงานทดแทน เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรเทาวิกฤตราคาพลังงานที่เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย
“จากผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนตื่นตัว และให้ความสำคัญกับปัญหาราคาพลังงานที่เกิดขึ้นว่ามีความรุนแรง ส่งผลต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน และเห็นว่าภาครัฐควรมีการส่งเสริมพลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ตลอดจนเร่งให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต” นายไกรฤทธิ์กล่าว