กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ก.ไอซีที
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แถลงยืนยันการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม ไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งจากการที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม 10 สัญญา เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยรายงานว่าการแก้ไขสัญญาทุกครั้งตั้งแต่ปี 2543 ไม่มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ รวมทั้งดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2535) ตลอดจนการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มหาศาลนั้น
“เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว กระทรวงฯ ได้มีการหารือกับหน่วยงานทั้ง 2 แล้ว และขอยืนยันว่าการดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานของทั้งบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคมได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่างโดยผ่านทั้งคณะกรรมการบริหาร รวมถึงคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 ที่มีผู้แทนของกระทรวงการคลัง รวมทั้ง สคร. ร่วมอยู่ด้วย และการดำเนินการแก้ไขก็เป็นไปอย่างเปิดเผย ซึ่งการแก้ไขสัญญาในบางประเด็นก็ไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่อยู่ในอำนาจที่รัฐมนตรีสามารถให้ความเห็นชอบได้ ส่วนในประเด็นที่ สคร. ประเมินการแก้ไขสัญญาว่าได้สร้างความเสียหายแก่ภาครัฐเป็นมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านนั้น ขอให้ สคร.แจ้งรายละเอียดว่าเป็นการแก้ไขสัญญาใดบ้าง แต่ทั้งสองหน่วยงานได้ยืนยันว่าการแก้ไขทุกครั้งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน รวมทั้งเป็นการแก้ไขเพื่อให้ก้าวทันต่อการพัฒนาของเทคโนโลยี” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว
ด้านนายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจร่วมการงาน บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้กล่าวถึงการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบมจ. กสทฯ ว่า ได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน 3 ฉบับ กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค โดยที่ผ่านมาไม่ได้รับการทักท้วงจากหน่วยใด ซึ่งการแก้ไขครั้งนั้นได้ยกเลิกในเรื่องสิทธิผูกขาดที่ทำไว้กับดีแทค จึงทำให้ กสท สามารถเซ็นสัญญาเพิ่มเติมได้อีก 2 ฉบับ รวมทั้งสามารถให้บริการ CDMA ได้ ตลอดจนมีรายได้และทรัพย์สินเพิ่มขึ้นประมาณ 9 หมื่นกว่าล้านบาท
ส่วนนายวิเชียร นาคสีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ทีโอที ได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน 5 ฉบับ ซึ่งทุกครั้งจะดำเนินการอย่างมีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งประชาชน และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่มีมาในอดีต เช่น กรณีของการแก้ไขสัญญาในเรื่องลักษณะการให้บริการจากที่มีเพียงแบบรายเดือนซึ่งมีการเก็บค่าเช่าเลขหมาย และค่าใช้บริการ โดยเพิ่มการให้บริการในแบบเติมเงิน หรือ pre paid ขึ้นมา ซึ่งการแก้ไขสัญญาในเรื่องนี้ได้ทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจาก 1.4 ล้านคน เป็น 3.8 ล้านคนภายใน 1 ปีของการแก้ไขสัญญา และรายได้เพิ่มขึ้นจาก 4,400 ล้านบาท เป็น 9,100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือประมาณ 60 ล้านคน โดยเป็นผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน 90% และสร้างรายได้ถึง 18,000 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้งหมดของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม โดยจะหารือกับ สคร. ในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ภายใน 90 วัน หรืออาจขอขยายเวลาออกไปหากมีความจำเป็นที่ทำให้การตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ จากนั้นจะนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 ทวิติยา