ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 49 บสท. มีรายรับจากการบริหารงานประมาณ 109,680 ล้านบาท โดยได้นำเงินส่วนหนึ่ง ทำการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 105,575 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday December 6, 2006 17:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--บสท.
ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 49 บสท. มีรายรับจากการบริหารงานประมาณ 109,680 ล้านบาท โดยได้นำเงินส่วนหนึ่ง ทำการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 105,575 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเร่งระบาย NPA เข้าระบบเศรษฐกิจ คาด 2-3 ปี ข้างหน้าจะมีการลงทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ เพิ่มในวงเงินกว่า 12,800 ล้านบาท
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) กล่าวว่า การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ บสท. ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินจนได้ข้อยุติเกือบ 100% โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บสท. ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินทั้งสิ้น จำนวน 15,270 ราย มูลค่าทางบัญชี 776,133 ล้านบาท และบริหารจัดการจนมีข้อยุติแล้ว 15,268 ราย มูลค่าทางบัญชี 772,211 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.49
นายสมเจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวเป็นลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จหรือฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง (TDR) จำนวน 7,475 ราย มูลค่าทางบัญชีสูงถึง 507,551 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีลูกหนี้ 1,587 ราย มูลค่าทางบัญชีประมาณ 49,300 ล้านบาท ได้ปิดบัญชีและชำระหนี้กับ บสท. เสร็จสิ้นแล้ว โดย บสท. ได้ส่งลูกหนี้กลับคืนสู่ระบบสถาบันการเงินปกติ ซึ่งช่วยให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถกลับไปดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ มีการลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จำนวน 7,793 ราย มูลค่าทางบัญชี 264,661 ล้านบาท บสท. จำเป็นต้องดำเนินการบังคับหลักประกันเพื่อนำทรัพย์สินหลักประกันดังกล่าวมาสร้าง มูลค่า เพื่อให้เกิดการพัฒนาอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม”
สำหรับผลการบริหารจัดการและการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2549 บสท. มีรายรับทั้งสิ้นประมาณ 109,685 ล้านบาท เป็นเงินรับจากการชำระหนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 92,717 ล้านบาท การบริหารและขายทรัพย์สินรอการขายจำนวน 16,109 ล้านบาท และการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนวน 859 ล้านบาท โดย บสท. ได้นำเงินดังกล่าวไปไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ บสท. ออกให้สถาบันการเงินเพื่อชำระราคาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จนถึงขณะนี้ บสท. ได้ดำเนินการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนของเงินต้น 92,674 ล้านบาท จากตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนของเงินต้นทั้งหมดที่ บสท. ออกให้แก่สถาบันผู้โอน มูลค่า 254,160 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36.46 นอกจากนี้ บสท. ยังได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินอีกจำนวน 12,901 ล้านบาท ซึ่งการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนอกจากจะเป็นการลดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยให้กับ บสท. แล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาระหนี้สาธารณะที่เกิดจากการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลงด้วย
“ในส่วนของลูกหนี้ที่ต้องการหาสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจาก บสท. จะช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงินแล้ว บสท. ยังยินยอมให้สถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ลูกหนี้จดจำนองหลักประกันเป็นลำดับที่ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บสท.ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างจริงจัง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2549 บสท. ได้ดำเนินการหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) และสินเชื่อใหม่ (Refinance) ให้กับลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 57 ราย เป็นวงเงินสินเชื่อใหม่รวมประมาณ 9,559 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าว มีลูกหนี้15 ราย ได้รับการอนุมัติสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินแล้ว คิดเป็นวงเงินสินเชื่อใหม่ประมาณ 1,019 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ” นายสมเจตน์ กล่าว
นายสมเจตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ทรัพย์สินที่ได้รับจากการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้และบังคับหลักประกันเข้ามาเป็นทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ บสท. สิ้นไตรมาส 3 ปี 2549 มีประมาณ 92,338 ล้านบาท บสท. ได้นำทรัพย์สินมาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน และประกาศขายทรัพย์สินผ่านเว็บไซต์ www.tamc.or.th รวมทั้งมีการจัดแคมเปญการขาย อาทิ “NPA EXPO เพื่ออุตสาหกรรม Logistics ” และ “NPA EXPO มหานครสุวรรณภูมิ” โดยที่ผ่านมา บสท. ได้จำหน่ายทรัพย์สินไปแล้ว 16,606 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการสอบถามข้อมูลจากนักลงทุนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจาก บสท. ไป จำนวน 644 ราย ในเบื้องต้นพบว่าในอนาคต 2-3 ปี ข้างหน้า ผู้ลงทุน 147 ราย มีแผนการลงทุนเพิ่มเพื่อก่อสร้างโครงการต่างๆ คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 12,870 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 5,760 ล้านบาท โครงการเพื่ออุตสาหกรรมประมาณ 1,404 ล้านบาท โครงการที่จะพัฒนาเป็นสำนักงานประมาณ 1,300 ล้านบาท และโครงการพาณิชย์ขนาดย่อมประมาณ 4,406 ล้านบาท นับว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยระบาย NPA กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะ ช่วยกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อีกแนวทางหนึ่ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ส่วนวางแผนและบริหารข้อมูล
โทร.0-2357-1503-5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ