กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จคัดแยกแบคทีเรียสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์ จากน้ำทิ้งของกระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่มีประสิทธิภาพผลิต “สาร 1,3-Propanediol” เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นพลาสติกย่อยสลายได้ ระบุสามารถเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งปริมาณ 10% จากโรงงานไบโอดีเซลสู่การสร้างรายได้ ลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า กลีเซอรอลดิบ (Crude glycerol) เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลจำนวน 6 โรงงาน ที่ทำการผลิตไบโอดีเซลได้กว่า 400,000 ลิตรต่อวัน ปัญหาสำคัญหนึ่งที่ผู้ประกอบการกำลังประสบก็คือ การจัดการกลีเซอรอลดิบที่มีประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้หากยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์และจัดการที่ดีแล้ว อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมในอนาคต ด้วยตระหนักถึงปัญหานี้ วว. โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาและพลังงาน ร่วมกับฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ จึงได้จัดทำโครงการการเพิ่มมูลค่าของกลีเซอรอลดิบจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลขึ้น เพื่อหาแนวทางการแปรรูปกลีเซอรอลดิบให้เป็นสารประกอบมูลค่าเพิ่มต่างๆ
“จากการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นที่น่ายินดียิ่งที่ วว. ประสบความสำเร็จในการผลิต สาร 1,3-Propanediol ซึ่งเป็นสารสำคัญตัวหนึ่งในการผลิตเป็นพลาสติกย่อยสลายได้ โดยแบคทีเรียสายพันธุ์พื้นเมืองของไทยคือ สายพันธุ์ Enterobacter radicincitans ซึ่ง วว. คัดแยกได้จากน้ำทิ้งของกระบวนการผลิตไบโอดีเซล แล้วนำมาเลี้ยงในอาหารทดสอบที่ วว. ได้คิดค้นขึ้น และเพิ่มกลีเซอรอลดิบเข้าไปในสภาวะการบ่มเลี้ยงทั้งในที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน (Facultative anaerobic condition) โดยอาหารทดสอบที่ใช้นั้นเป็นสูตรที่มีชนิดและปริมาณสารเคมีน้อยกว่าสูตรอาหารดัดแปลงสูตรอื่นที่มีรายงานมาแล้ว
นอกจากนี้การบ่มเลี้ยงแบบ Facultative anaerobic condition จะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการบ่มเลี้ยงในสภาวะไร้อากาศ (Anaerobic condition) และที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลพลอยได้และลดต้นทุนในการผลิตไบโอดีเซลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ วว.ได้ยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการผลิตสาร 1,3-Propanediol จากกลีเซอรอลดิบโดยแบคทีเรียสายพันธุ์พื้นเมืองของไทยเรียบร้อยแล้ว” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นางสาวพิศมัย เจนวนิชปัญจกุล รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าวว่า สาร 1,3-Propanediol เป็นสารโมเลกุลเชิงเดี่ยว (Monomer) ชนิดหนึ่งที่มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ใช้ในการสังเคราะห์โพลิเอสเตอร์ (เช่น polyethylene tereptalate, polyurethanes) สารหล่อลื่น (lubricant) ตัวทำละลาย (solvent) หรือนำมาผลิตเป็นพลาสติกย่อยสลายได้ (biodegradable plastic)
การผลิต “สาร 1,3-Propanediol ” มี 2 วิธี คือ 1. สังเคราะห์ขึ้นจากสารเคมี เช่น Acrolein, propylene หรือ ethylene เป็นกระบวนการที่ต้องทำที่อุณหภูมิและความดันสูง ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ราคาแพง และ 2. การผลิตด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เช่น การหมักน้ำตาลหรือกลีเซอรอลกับแบคทีเรีย มีหลายคณะนักวิจัยได้รายงานถึง การผลิตสาร 1,3-Propanediol โดยกระบวนการหมัก และมีการใช้กลีเซอรอลบริสุทธิ์หรือกลีเซอรอลดิบเป็นแหล่งพลังงานของแบคทีเรีย
ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ นักวิชาการ ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการการเพิ่มมูลค่าของกลีเซอรอลดิบจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะนำแบคทีเรียจากต่างประเทศมาใช้เพื่อการผลิตสาร 1,3-Propanediol จากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลระดับอุตสาหกรรมในบ้านเรานั้น อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของแบคทีเรียในการผลิตสาร 1,3-Propanediol ได้ต่ำลง จากความสำเร็จที่ วว. สามารถคัดแยกแบคทีเรียจากน้ำทิ้งของกระบวนการผลิตไบโอดีเซลในบ้านเราเอง ย่อมทำให้การผลิตสารนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะนี้ วว. อยู่ในระหว่างการพัฒนากระบวนการผลิตสาร 1,3-Propanediol ให้ได้ในปริมาณสูง เพื่อการพัฒนาไปสู่กระบวนการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จะมีการเปิดเผยความสำเร็จต่อสาธารณชนในโอกาสต่อไป
ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจทั่วไป ขอรับคำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตไบโอดีเซล ได้ที่ ฝ่ายสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาและพลังงาน วว. โทรศัพท์ 0 2579 -1121-30 โทรสาร 0 2561 4771 ในวันเวลาราชการ WWW. tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th