กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือสกว. ระบุสามารถวางต้นแบบการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบในโครงการนำร่องการบูรณาการจังหวัดอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาความยากจนใน 12 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ทำให้ชุมชนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน พร้อมเผยใช้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นกลไกสำคัญ
ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ The Thailand Research Fund (TRF) กล่าวถึงยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ ว่า การแก้ปัญหาความยากจนจะแก้ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยการเข้าไปศึกษาในพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และนำมาสร้างแผนแม่บทของชุมชน ทั้งนี้ต้องให้ประชาชนในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและการทำงาน สกว. ได้ใช้แนวคิดที่เรียกว่า “การบริหารจัดการเชิงพื้นที่” หรือ Area-Based คือการเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่เป้าหมาย โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาควิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน ในการแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายในพื้นที่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องแก้ไข
การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้นำมาใช้ในโครงการนำร่องการบูรณาการจังหวัดอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาความยากจนใน 12 จังหวัด ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่ายคือ สกว. ในฐานะภาควิชาการ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน กระทรวงมหาดไทย (ศตจ.มท.) ในฐานะภาคราชการและสถาบันพัฒนาองค์กรประชาชน (พอช.)ในฐานะภาคประชาชน ซึ่งสกว. ได้มีบทบาทหน้าที่ในการเชื่อมโยงระบบข้อมูลข้อเสนอภาคประชาชนกับระบบสนับสนุนการตัดสินใจของจังหวัดและออกแบบระบบต้นแบบการบริหารจัดการจังหวัดนำร่อง
โครงการนำร่องฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครปฐม สมุทรสงคราม นครพนม กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี พัทลุง และตรัง มีเป้าหมายคือ
1.เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ และ2.เพื่อระบบการบริหารงานในจังหวัดเพื่อการป้องกันและแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือนเมษายน ปี 2548 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม ปี 2549 รวมระยะเวลา 10 เดือน สามารถทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันในพื้นที่ของชุมชน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนที่วางไว้ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส
ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงการดำเนินงานของโครงการนำร่องฯ 12 จังหวัด ว่า “สกว. ไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวบุคคล แต่แก้เป็นขบวนการเรียนรู้ด้วยกัน โดย 3 เดือนแรก เป็นเรื่องของการปรับแนวคิดเข้าหากัน ทำความเข้าใจกับทีมงานในจังหวัด พอเดือนที่ 6 หน่วยงานรัฐในพื้นที่ก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีและเข้าใจมากขึ้น ส่วนชาวบ้านก็กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ทำให้เราได้ข้อมูลครัวเรือน 3 แสนครัวเรือน ที่จัดกลุ่มเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ที่ดินทำกิน รายได้ รายจ่าย หนี้สิน สมาชิกกลุ่ม และปัญหาความเดือดร้อน ได้แผนชุมชน 357 ตำบล ได้แนวทางในการขยายโครงการต่างๆ ว่า ใช้งบประมาณต่อหน่วยเท่าไร และชาวบ้านเริ่มคิดที่จะลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม และขยายโอกาสต่อไป ตามแนวทางยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล”
ในแต่ละจังหวัดจะมีการเลือกประเด็นขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของแต่ละจังหวัด พื้นที่นำร่องในภาคอีสานใช้กระบวนการแผนชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนงาน จังหวัดนำร่องในภาคเหนือใช้กระบวนการจัดทำแผนชีวิตและข้อเสนอภาคประชาชนด้านการจัดการปัจจัยการผลิตเป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนพื้นที่นำร่องในภาคใต้ ใช้กระบวนการทำแผนชุมชนและใช้กระบวนวิจัยท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน
สำหรับผลที่ได้ของโครงการนำร่อง 12 จังหวัด คือ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น เกิดความสัมพันธ์ใหม่กับภาครัฐและประชาฃน เพราะภาครัฐจะรู้ว่าต้องติดต่อกับภาคประชาชนอย่างไรและติดต่อใคร ส่วนชาวบ้านก็สามารถไปปรึกษาฝ่ายปกครองได้ตามความต้องการ 2.เกิดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ด้านการจัดสรรงบประมาณที่ถูกต้อง และ 3.เกิดการ บูรณาการในพื้นที่ผ่านแผนชุมชน
จากการดำเนินการโครงการนำร่องฯ ทำให้ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน กระทรวงมหาดไทย (ศตจ.มท.) นำต้นแบบดังกล่าวขยายผลต่อไปในอีก 40 จังหวัด
ยโสธรและพัทลุง ต้นแบบโครงการนำร่องฯ
ด้านนายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวถึงโครงการนำร่องฯ ว่า การทำงานในครั้งนี้ถือเป็นการทำงานแนวใหม่ ที่เน้นการประสานความร่วมมือของทุกส่วนให้มาทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน ทำให้เกิดความรู้ในการทำงาน เช่น การเปิดเวทีประชาพิจารณ์มีการระดมความเห็นอย่างกว้างขวาง ชาวบ้านมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยผู้นำไม่เป็นผู้ชี้นำหรือคิดแทนชาวบ้านหรือใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการสรุปตัดสิน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนในมุมมองที่หลากหลาย
ในส่วนชุมชนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหลายอย่าง คือ 1. เกิดการตระหนักรู้ในปัญหาชุมชน 2. มีฐานข้อมูลชุมชน ที่ครอบคลุมและเท่าทันสถานการณ์ และ3. เกิดบทเรียนการทำงานร่วมกันของชุมชนผ่านกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำแผนชุมชนและการจัดเวทีต่างๆ การทำงานที่ต้องสัมพันธ์กับท้องที่และท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด
สำหรับนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า “โครงการนำร่องฯ นำไปสู่การคิดเองของประชาชนและทำให้รู้จักตนเอง อาทิ ทำให้เกิดอาชีพเกษตรกรรมเสริมรายได้ในชุมชน ส่วนงบประมาณก็สามารถจัดสรรในการพัฒนาให้ไม่ซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากมีข้อมูลของครัวเรือนที่นำมาใช้จัดทำงบประมาณ ตลอดจนความความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
การดำเนินงานแก้ปัญหาความยากจนของพัทลุง ใช้กลไกของศูนย์ประสานงานภาคีชุมชนเครือข่ายชุมชน จังหวัดพัทลุง เป็นแกนประสานในการปฏิบัติการแก้จน โดยกำหนดแนวทางการทำงานไว้ 2 แนวทาง คือ 1. แนวทางหลักใช้ ”แผนชุมชน” เป็นเครื่องมือเตรียมความพร้อมในเชิงพื้นที่ โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนแผนทุกตำบลทั้งจังหวัด 2. แนวทางเสริม โดยคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบทำงานเชิงประเด็น 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. เกษตรยั่งยืน มีพื้นที่ 6 ตำบลนำร่อง 2. วิสาหกิจชุมชนมี 13 ตำบลนำร่อง 3. สื่อสาธารณะใช้กลไกประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อประชาชนทั้งจังหวัด 4. องค์กรการเงินชุมชนมีพื้นที่นำร่อง 7 ตำบล และ 5. ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
สกว. เป็นหน่วยงานกำกับสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัยปี พ.ศ. 2535 มีระบบการบริหารงานที่แตกต่างจากระบบราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการนโยบาย
สกว. มีภารกิจหลัก คือสนับสนุนการสร้างความรู้ สร้างนักวิจัย และสร้างระบบวิจัย เพื่อตอบคำถามและเสนอทางเลือกให้สังคม ซึ่งครอบคลุมทั้งในระบบเศรษฐกิจภาคดั้งเดิมและสมัยใหม่ โดยใช้จุดเด่นด้านการบริหารงานวิจัย เพื่อยกระดับความสามารถด้านการวิจัยของประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ และคุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทร. 0-2439-4600 ต่อ 8202 และ 8300
อีเมล์ srisuput@corepeak.com , tanasaku@corepeak.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net